พงไพร ผีป่า นางไม้

พงไพร ผีป่า นางไม้

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ทริปเส้นทางแห่ง...ผู้พิชิตขุนเขา...ท้าลมหนาว ตอน..เรื่องเล่าจากแนวป่า..ตำนานสุสานช้างแห่งเลตองคุ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก


ป่าสุสานช้าง เลตองคุ
 ....เล่าเรื่องจากแนวป่า..
ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าดิบทึบที่แฝงไว้ด้วยความลึกลับ มนต์ขลังหรืออาถรรพณ์แห่งป่า มีบริเวณครอบคลุมอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะป่าตามตะเข็บอันเป็นแนวชายแดนเขตภูเขาฝั่งตะวันตก เขตชายแดนประเทศไทย ประเทศเมียนมาร์ ป่าดิบทึบที่แฝงไว้ด้วยความลึกลับ เร้นลับเหล่านี้ น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้ย่ำกลายเข้าไป เนื่องจากความหวาดหวั่น หวาดกลัวในสิ่งที่จะต้องเผชิญ 
อำเภออุ้มผาง เป็นอำเภอหนึ่งทางตอนใต้ของจังหวัดตาก จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2502 อำเภอนี้ที่มีขนาดพื้นที่มากที่สุดและเป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอเมืองมากที่สุดในประเทศไทย
อำเภออุ้มผาง มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้
  • ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอพบพระ (จังหวัดตาก)
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอคลองลาน อำเภอปางศิลาทอง (จังหวัดกำแพงเพชรอำเภอแม่วงก์ (จังหวัดนครสวรรค์) และอำเภอบ้านไร่ (จังหวัดอุทัยธานี)
  • ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอทองผาภูมิและอำเภอสังขละบุรี (จังหวัดกาญจนบุรี)
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับรัฐกะเหรี่ยง (ประเทศเมียนมาร์)
"ทิวเขาทอดตัวลึก สลับเรียงราย ประดุจทางเดินในเขาวงกต"
ย้อนกลับไปในอดีต ราวๆกว่าหลายร้อยปีที่ผ่านมา มีตำนานหรือคำบอกเล่าจากผู้ที่เคยเข้าไปตลอดจนคำพูดจากบรรดาเหล่านายพรานกะเหรี่ยงนอกพื้นที่ซึ่งเคยอาศัยดำรงชีพ ทำมาหากินเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว อยู่ในพื้นที่ป่าแถวนี้ เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ว่า….ในอาณาเขตป่าดิบทึบแห่งนี้มีหมู่บ้านกะเหรี่ยงเร้นลับอาศัยอยู่โดดเดี่ยว ผู้คนมีวิถีความเชื่อ ตลอดจนวิถีการดำรงชีวิตที่แปลกและแตกต่างจากชนเผ่ากะเหรี่ยงในเขตพื้นที่อื่นๆ หมู่บ้านแห่งนี้ มีชื่อเรียกตัวเองว่า เลตองคุ ตั้งอยู่ติดเขตชายแดนป่าลึก ระหว่างเขตพรมแดนเขตรอยต่อประเทศไทย - เมียนมาร์ รอยต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออก

"หมู่บ้านกะเหรี่ยงเลตองคุ ดินแดนลี้ลับ"
หมู่บ้านกะเหรี่ยง เลตองคุ ตั้งอยู่ใจกลางหุบเขา ในเขตป่าดิบทึบ ตามแนวผืนป่าเดียวกันกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ในอดีตไม่มีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก เพื่อใช้ติดต่อกับโลกภายนอก คงมีเฉพาะเส้นทางที่ต้องนั่งช้างเดินทางเข้าไปหรือไปตามเส้นทางเดินเท้า ที่ทำไว้เพื่อใช้ในการกสิกรรม เก็บของป่า หรือล่าสัตว์ บ้านเรือนผู้คนแบบเดิมเป็นแบบเรือนไม้ฟาก ถือโครงโดยไม้ยืนต้นแล้วใช้ไม้ไผ่ผ่าซีก ขัดสานประกอบกันเป็นพื้นเรือนและฝาผนัง มีหิ้งผีบรรพบุรุษ สร้างแยกยื่นออกมานอกตัวบ้าน พื้นบ้านยกสูงเพื่อใช้เก็บผลผลิตทางการเกษตร หลังคามุงด้วยวัสดุธรรมชาติ
                                                   ฤๅษีแห่งเลตองคุ
หมู่บ้านกะเหรี่ยงเลตองคุ ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านแห่งมนต์มหาจินดามณีของพระมุนีดาบสหรือองค์ฤๅษี ซึ่งเป็นหมู่บ้านชนเผ่ากะเหรี่ยงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ชาวบ้านจะมีความเชื่อถือในองค์ฤๅษี โดยองค์ฤๅษีจะนุ่งขาวห่มขาวแตกต่างจากองค์ฤๅษีที่อื่นๆ คงจะเป็นอีกลัทธิ ซึ่งฤาษีที่อื่นที่เราคุ้นเคยทั่วไป จะนุ่งห่มด้วยอาภรณ์แบบลายเสือ องค์ฤๅษีที่นี่จะอาศัยอยู่อาศรมในเขตวัด หรือเขตสำนักฤๅษี ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ องค์ฤๅษีจะกราบรูปเคารพของพระพุทธเจ้า และมีกฎข้อห้ามต่างๆให้ชาวบ้านประพฤติปฏิบัติ คล้ายศิลห้า หรือศิลแปด แบบพุทธ 
"สำนักฤๅษีเลตองคุ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์"


 "ข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติ"
สัตว์..เลี้ยงได้เฉพาะ วัว ควาย  ไม่ทานเนื้อสัตว์เลี้ยง  เคร่งครัดในหลักความเชื่อถือ

งาช้างศักดิ์สิทธิ์ คู่หมู่บ้านเลตองคุ


งาช้างศักดิ์สิทธิ์มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี อยู่คู่หมู่บ้านมาหลายชั่วอายุคน แกะสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางนั่งขัดสมาธิ สะดุ้งมาร ประณีต สวยงามมาก มีความยาวประมาณช่วงความสูงท่วมตัวคนพื้นเมือง หรือราวๆ 170 เซนติเมตร
มีเรื่องเล่ามาตั้งแต่ครั้งอดีตว่า ป่าแห่งนี้ทึบมาก เมื่อเดินผ่านเข้าไปแล้ว จะจำทางเข้า ออกยาก เปรียบได้กับต้นไม้เคลื่อนที่ได้ หรือป่าพรางตา ใครหลงเข้าไปแล้วจะหาทางออกลำบาก พื้นที่หมู่บ้านเป็นป่ารอยต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางอันอุดมสมบูรณ์ แถบนี้เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงสัตว์ป่าดุร้ายและสัตว์ป่าหายากนานาชนิด โดยเฉพาะ ช้างซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ จนนายพรานเล่าสืบต่อกันมาว่าเวลาช้างเจ็บป่วยมักจะเดินหายหรือโขลงช้างช่วยกันพยุงเข้าแล้วหายเข้าไปยังหุบป่าแถบนี้อยู่บ่อยครั้ง จนเป็นที่มาของ ป่าสุสานช้าง

"ปราการแห่งขุนเขา" เบื้องหลังยังมีอาถรรพณ์แห่งป่าซ่อนอยู่ ยากที่ใครจะล่วงรู้ความลับได้
ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่ามีซากงาช้างกองมหึมาซ่อนเร้นอยู่ในป่าอาถรรพณ์แห่งนี้ วันดีคืนดีในยามค่ำคืนจะเห็นแสงเรืองขึ้นมากระทบใบไม้ ยอดไม้ จนกลายเป็นแสงสีเขียวเจิดจรัส เรืองจับท้องฟ้าในยามมืดมิดแห่งราตรีกาล กลายเป็น แสงแห่งงาช้าง พลังแห่งป่า พลังซึ่งจะพิทักษ์ปกป้องคุ้มครองป่าและรักษาทุกสรรพชีวิตที่อาศัยและหากินในป่าแห่งนี้ให้เป็นไปตามวิถีแห่งป่า
 วิถีการดำรงชีพของชาวบ้านที่นี่  ยังคงเป็นหมู่บ้านแห่งการกสิกรรม และพึ่งพาอาศัยการหาอาหารจากป่า ผู้คนอยู่แบบเรียบง่าย มีอัธยาศัยไมตรีที่ดี ตลอดจนเป็นมิตรกับผู้มาเยือน แต่ก็มีผู้มาเยือนถึงถิ่นแห่งเลตองคุน้อยมาก เนื่องเพราะความลำบากในการเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน

 "น้ำตกเลตองคุ"



     เสน่ห์ที่ยังคงความเป็นธรรมชาติ ห่างไกลผู้คน เป็นน้ำตกที่ไหลลดหลั่นจากยอดเขาสูง จำนวนหลายชั้น ยิ่งใหญ่กระหึ่มป่า สำหรับผมแล้วความสวยงามไม่แพ้น้ำตกทีลอซูเลย  มีความสวยงามจัดอยู่ในอันดับต้นๆ  ปลายน้ำตกไหลเข้าสู่เขตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

  " แดนสนธยา ป่ามนต์ขลังแห่งเลตองคุ"


    
   มนต์ขลังแห่งป่าเลตองคุ เสน่ห์แห่งอัธยาศัยไมตรีอันดีงามและเป็นมิตรกับผู้มาเยือนของชาวบ้านเลตองตุ จะยังคงตรึงตราอยู่ในหัวใจของผมตลอดไป หากใครได้มาเยือนสักครั้งแล้ว คงยากที่จะลืมได้
      
      ปัจจุบัน..หมู่บ้านเลตองคุ  สามารถเดินทางเข้าออกได้ แต่ต้องเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อสมรรถนะดี คนขับต้องมีประสบการณ์ หรือจักรยานยนต์ช่วงสูง สมรรถนะดีๆเท่านั้น มีหัวใจรักการเดินทาง พร้อมฝ่าฟันอุปสรรค ส่วนการเดินทางช่วงฤดูฝน เป็นช่วงน้ำหลาก ต้องหาข้อมูลเส้นทางให้ดีก่อน เนื่องจากต้องข้ามสายน้ำหลายสาย แม่น้ำสุริยะขวางกั้น 

เรื่องเล่า...ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเรื่องที่เล่าขึ้น โดยมิได้มีเจตนาลบหลู่หรือให้เป็นการเสียหายแก่สถานที่ หรือผู้หนึ่งผู้ใด  นอกจาก เพื่อให้มีอรรถรสในการท่องป่า ปลูกฝังซึ่งวิถีแห่งธรรมชาติ ธรรมชาติต้องดำรงความยิ่งใหญ่และคงอยู่ตลอดไป.....หากมีข้อผิดพลาดใดๆ กระผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

                                                                                                                                  โดย....แจ๊คกี้ ชาติ ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น