พงไพร ผีป่า นางไม้

พงไพร ผีป่า นางไม้

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2561

เรื่องเล่าสู่ตำนาน ตอน..พระรอดดำ พิมพ์ใหญ่ วัดมหาวัน ลำพูน (องค์ต้นแบบ)

 "พระรอด....พระเครื่อง..ผู้เป็นรองแค่สายสิญจน์" 

โดย ร.ต.อ.อภิชาติ ปัดภัย รอง สวป.สภ.เมืองตาก


   "พระรอด" สุดยอดพระเครื่องซึ่งมีอายุกาลพรรษาสูงสุดแห่งชุดเบญจภาคี เชื่อกันว่าสร้างโดยองค์ฤาษีนารอด ในยุคสมัยอาณาจักรหริภุญชัยแห่งเจ้าแม่จามเทวี ปฐมกษัตรี นับถึงเวลานี้....ลุมาได้ประมาณกว่า ๑,๓๐๐ ปีล่วงมาแล้ว 


"ฤาษี นารอด (หรือนารถะ)" 




    "พระรอด..เป็นรองแค่สายสิญจน์"  

     ภาคเหนือ..มีน้อยคนที่ไม่รู้จักพระรอด แม้แต่เด็กๆก็ยังรู้จัก พูดง่ายๆ เกิดมาก็เกี่ยวพันกับพระรอดตั้งแต่แบเบาะแล้ว ด้วยฤิทธิปาฏิหาริย์ที่เล่าลือกันของพระรอดประกอบด้วยนามคำว่า "รอด"  พ่อแม่หรือผู้ปกครองจึงนิยมหามาให้ลูกหลานให้ใช้คล้องคอ ญาติพี่น้องที่มีใครให้กำเนิดบุตรใหม่ ก็มักจะได้ของฝากของเยี่ยม ถ้าเป็นพระเครื่องก็เห็นจะไม่พ้น"พระรอด" ภาพลักษณ์ของ "พระรอด" ไม่ว่าจะเป็นพระรอดใหม่หรือพระรอดเก่า จึงยังฝังจิตฝังใจกลายเป็นวัฒนธรรมการคล้องพระเครื่องของทางภาคเหนือของไทยและเป็น "ศรัทธาวัฒนธรรม" ที่อยู่คู่กับคนภาคเหนืออย่างแท้จริงจนถึงทุกวันนี้
   "พระรอด...เป็นรองก็แค่สายสิญจน์เท่านั้น"  ในที่นี้หมายถึง "จำนวน" เมื่อเทียบกับการหาคล้องพระรอด ไม่ว่าพระใหม่หรือเก่า เพราะการหาด้ายสายสิญจน์ มาเป่ามาเสกแล้วนำมาผูกคล้องคอ ผูกข้อมือ หาได้ง่ายกว่าและในทุกวาระโอกาส แม้แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เรานับถือ หรือท่านผู้มีอายุซึ่งทางภาคเหนือเรียก "พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย" เช่น..ลุงติ๊บ...ก็เรียก "พ่ออุ๊ยติ๊บ" ป้าศรี ก็เรียก "แม่อุ๊ยศรี" เราก็สามารถหาสายสิญจน์มาให้ท่านเป่าเสกพรวดๆ บางท่านเป่าจนน้ำหมากกระจาย เพราะคนสมัยก่อนนิยมเคี้ยวหมาก แล้วนำมาผูกคล้องข้อมือลูกหลาน ท่าน....ไม่ได้ใช้พลังจิตแต่ท่านใช้พลังใจ...ลูกหลานก็ได้กำลังใจ หายป่วย หายไข้ ไม่กลัวผีสางนางไม้แล้ว สายสิญจน์จึงมีจำนวนมากกว่าพระรอด ....แสดงว่าทั้ง พระรอด และสายสิญจน์ เป็นที่นิยมหามาเป็นเครื่องรางในลำดับต้นๆ ในถิ่นแถวทางภาคเหนือของไทยมานานมากหรือเริ่มตั้งแต่แรกคลอดนอนแบเบาะแล้ว


"ไขตำหนิลับ ในองค์พระรอดพิมพ์ใหญ่"

    ถึงเวลานี้เห็นทีจะไม่กล่าวถึงความเป็น "พระรอด" เสียไม่ได้ กระผมจึงได้ใช้เวลาพยายามไขปริศนาในองค์พระรอดและหาข้อยุติในความน่าจะเป็นพระแท้หรือความเป็นพระแท้ถึงยุคสมัย ในแบบฉบับของกระผมเอง โดยได้พยายามแตกความรู้จากในทุกมิติความรู้และจากตำราของท่านผู้รู้ ผู้ชำนาญจากแหล่งความรู้ต่างๆ 
    พระรอด..พิมพ์ใหญ่ องค์ในภาพ กระผมเพียรพยายามส่องและศึกษาเป็นเวลานานหลายเดือน (....เชื่อว่า..ไม่มีใครที่ส่องพระแล้วรู้แท้ปลอมในครั้งเดียว) สุดท้ายก็ได้แตกแขนงการศึกษาพระรอดองค์นี้ ออกมาในแบบฉบับของกระผมเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพอใจ แต่ก็ยังต้องศึกษากันต่อไปอีกและไม่ได้เป็นสิ่งที่ผมจะนำมาชี้ขาดความเป็นพระรอดพิมพ์ใหญ่องค์แท้จริง แต่น่าจะมีประโยชน์ในการนำไปต่อยอดกระบวนการเรียนรู้และทิ้งไว้ให้สืบสานเรื่องราวต่อไป สำหรับคนรุ่นอนาคตในยุคดิจิตอลด้วย...
   พระรอด...เป็นพระเครื่องกลุ่มเนื้อดินเผา อันยากที่จะชี้ตำหนิได้ (ไม่เหมือนพระเครื่องรุ่นใหม่ที่ปั๊มให้คมชัดด้วยโลหะ) ฉะนั้น...พระเครื่องกลุ่มเนื้อดินเผาต้องใช้ความชำนาญบวกประสบการณ์ในการดูเนื้อพระเป็นหลัก รองลงมาคือ..การศึกษาตำหนิโดยรวม เพื่อชี้แนวทางความเป็นพระแท้ของพระเครื่ององค์นั้นเท่านั้น กลุ่มพระเนื้อดินเผายากที่จะเหมือนกันได้ทุกองค์


แบบฉบับการศึกษา พระเครื่องกลุ่มเนื้อดินเผา ในแบบการศึกษาของกระผมเอง

๑.ดูเนื้อ - ความเก่าและความเป็นธรรมชาติ (ชี้ขาดความเป็นพระแท้ได้)
๒.ดูตำหนิพิมพ์โดยรวม เพื่อดูพุทธศิลป์ของความน่าจะเป็นพระแท้ (ใช้ประกอบความน่าจะเป็นพระแท้เท่านั้น)


ศาสตร์พระรอด...เปิดเผยเป็นครั้งแรก

เผยความลับ พระรอด....ในรอบ ๑,๓๐๐ ปี"พระรอดลำพูนดำ องค์ปฐมบท"


"พุทธศาสตร์..ขับ..พุทธศิลป์"

    พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้ มีเนื้อในดำหรือที่นิยมเรียกตามความหายากว่า "พระลำพูนดำ" แต่คราบผิวเป็นสี(วรรณะ)เหลืองขุ่นนวลหรือสีเหลืองไพล มีรายละเอียดพิมพ์ทรง มิติที่คมชัด รายละเอียดสมบูรณ์ เท่าที่ผมเคยพบเห็นมา จึงน่าจะสันนิษฐานได้ว่าน่าจะพิมพ์ในจำนวนแรกๆของการพิมพ์พระ ซึ่งแม่พิมพ์ยังไม่ถูกอุดหรือติดสะสมจากมวลสารที่เกิดจากการพิมพ์พระจำนวนซ้ำๆหลายครั้ง หรือเป็นพระที่พิมพ์จากแม่พิมพ์แรกๆ ก่อนที่จะมีการถอดแม่พิมพ์ที่สอง ที่สาม เพื่อการพิมพ์เพิ่มจำนวนและแต่งแก้ไขรายละเอียดเพิ่ม พระรอดองค์นี้ ที่น่าจะเกิดจากแม่พิมพ์แรก จึงมีความลึก คม ได้มิติความสูงและสัดส่วนของกลุ่มโพธิ์ที่ชัดเจน รายละเอียดส่วนพระพักตร์ที่ลึกคมชัด โดยเฉพาะดวงพระเนตรที่สวยคม แฝงด้วยพลังอำนาจ ดุจมีชีวิต และส่วนอื่นๆสมบูรณ์ จึงขอเรียกนามว่า "พระรอดองค์แรกเริ่มหรือพระรอด องค์ปฐม"

                      "อัตลักษณ์พื้นฐานของพระรอดลำพูนดำ องค์ในภาพ"


ตามภาพประกอบด้านบน

1.โพธิ์รูปขวาน - เป็นโพธิ์ที่มีลักษณะคล้ายรูปขวาน
    ไทย ด้ามสั้น แต่ก็ยังมีส่วนแอ่งเว้าแบบเป็นธรรมชาติ
2.โพธิ์เหลี่ยมแหลม - ลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยม
    ข้าวหลามตัด แต่มีสันเหลี่ยมคมที่ด้านบนยาวเป็น
    แนว และมีมุมปลายที่แหลม ทั้งมุมบนและมุมล่าง
3.โพธิ์ยอดสูง - เป็นโพธิ์ที่มียอดสูงที่สุด มีเหลี่ยมมีมุม 
    มีมิติที่ชัดเจน ถ้าเป็นองค์ที่พิมพ์ครั้งหลังๆ อาจจะดู        เหมือนก้อนเนื้อเกิน เนื่องจากการทับถมหรือ
    สะสมกันที่แม่พิมพ์ของมวลเนื้อสสาร
4.โพธิ์ก้านมุม  - เป็นโพธิ์ที่มีลักษณะเหมือนใบโพธิ์มาก
    ที่สุด และมีก้านยาวลงมา ตัดกับเส้นประภามณฑล  
    จึงมองดูมองดูเหมือนลักษณะก้านโพธิ์หักมุมเฉียง
    ขึ้นไป องค์นี้โพธิ์เขยื้อนนิดหน่อย จนดูเหมือนโพธิ์
    ซ้อน
5.โพธิ์จิ๋วหางหนาม - ลักษณะเป็นรูปนูนคล้ายดอกบัว
    ขนาดจิ๋ว มีหางหนามยาว  เรียวลดขนาดเล็กลงไปที่
    ปลายหาง วิ่งเป็นเส้นสองเส้น แตกออกไปคล้ายหาง
    แมงดาทะเล (พระเลียนแบบไม่สามารถทำปลายหาง
    ให้เรียวเล็กลงไปได้ ขนาดหางจะดูเท่ากันและดู
    ทื่อๆ) แต่ลักษณะรูปร่างของโพธิ์นี้ ไม่ว่าจะมีรูปร่าง
    ลักษณะใด แต่ที่สำคัญ ต้องมีหางวิ่งคู่และเรียวเล็ก
    ลงไป
6.รอยครูดแม่พิมพ์ - ตรงเหลี่ยมมุมหน้าแข้งขวา 
    (พระชงฆ์ขวา) ด้านล่าง มักปรากฏรอยครูดของแม่
    พิมพ์


"พุทธศิลป์ส่วนพระพัตร์"

  พระพักตร์พระรอดจะก้มต่ำเล็กน้อย แบบสงบนิ่ง ดูสุขุม อันเป็นบุคลิกของผู้บำเพ็ญตบะ แตกต่างจากพระคง ซึ่งพระคงจะเงยหน้าแบบเชิดคาง อันเป็นบุคลิกของผู้พร้อมที่จะเผชิญ...
    จากการค้นพบ..เม็ดแร่กายสิทธิ์ ที่ฝังบรรจุไว้ในช่วงบริเวณท้ายทอยองค์พระรอดพิมพ์ใหญ่ จึงน่าจะเป็นสิ่งที่บังคับให้..พระรอด พิมพ์ใหญ่อยู่ในอิริยาบถ...ก้มพระพักตร์หรือก้มหน้า
แร่กายสิทธิ์ในองค์พระรอด

พระเมาลี
    
    พระเมาลี ยกแยกออกจากส่วนพระเศียร มีร่องเห็นได้ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบร่องเหล่านี้จะถูกอุดทับที่แม่พิมพ์จากมวลสสาร พระ..องค์ที่พิมพ์ครั้งหลังๆ จึงดูเสมือนว่าพระเมาลีกับส่วนพระเศียรติดกัน มองไม่เห็นแนวร่อง
    พระอุณาโลมก็เช่นกัน แบ่งครึ่งไรพระศกอย่างชัดเจน พร้อมร่องไรพระศกที่ตรงกลางส่วนที่ติดกับพระอุณาโลมมีลักษณะเป็นแอ่งแผ่กว้างลึก ซึ่งพระที่พิมพ์ครั้งหลังๆ ร่องไรพระศกจะดูเป็นเส้นแคบและดูตื้น
    ดวงพระเนตรเป็นส่วนสัน ชัดเจน มองดูเหมือนมีแววพระเนตร (แววตา) ที่ประดุจมีชีวิต ซึ่งเป็นธรรมชาติของอายุกาล ดูไม่กระด้างหรือแข็งทื่อ แฝงไว้ด้วยพลังอำนาจ

"เผยอัตลักษณ์ พระรอดพิมพ์ใหญ่ (องค์ในภาพ)"

อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๑) รอยครูดส่วนแก้มและใบหูซ้าย



    ปกติทั่วไป จะมีการชี้บอกตำหนิรอยครูดที่แก้มซ้ายเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงของพระที่พิมพ์ดินเผา ด้วยแม่พิมพ์โบราณ ส่วนใหญ่จะปรากฎรอยครูดที่ส่วนขอบข้างสันตั้งของพิมพ์ แต่อาจจะเจื่อนหายไปตามกาลเวลาและจากการซ่อมแซมประสานรอยผิวตามธรรมชาติ
    ในพระรอดองค์นี้ ปรากฏรอยครูดของแม่พิมพ์ในส่วนแก้มซ้ายและใบหูชัดเจน เป็นครั้งแรกที่มีการชี้รอยครูดข้างใบหูเช่นนี้


(ตัวอย่าง) รอยครูดแม่พิมพ์ในส่วนต่างๆของขอบข้างสันตั้ง


อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๒) แนวเส้นแม่พิมพ์แตก (เส้นวิ่งหนึ่ง-สอง-สาม)

     แนวเส้นแม่พิมพ์แตก นับว่าเป็นจุดคลาสสิคของการดูพระรอด อัตลักษณ์เฉพาะวัดมหาวัน จึงขอนำมาเปิดเผยเป็นครั้งแรกที่เวบบล็อกแห่งนี้เท่านั้น 
     เส้นแตกที่วิ่งอย่างน่าอัศจรรย์ จาก "เส้นเดียว" ที่เริ่มวิ่งตั้งแต่ข้างใบหูซ้าย (พระกรรณซ้าย) ไล่ลงมาจรดขอบบ่าแล้ววิ่งเรียบลงมาตรงข้างขอบแขน ปีนขึ้นบนข้อศอกแล้วโค้งหักลงมา มุดหายไปตรงส่วนพระบาท ปรากฏอีกทีตรงซอกแอ่งแล้วปีนจางๆขึ้นบนพระชานุ (เข่า) แล้วปีนลงมาแตกออกเป็น "สองเส้น" จากนั้นมุดหายไป โผล่อีกที ใต้สันฐานที่หนึ่ง วิ่งโค้งลงไป กลายเป็น "สามเส้น" จรดฐานที่สอง 
    ลักษณะการวิ่งของเส้นแตก จึงมีความคลาสสิคเป็นอย่างมาก ไล่จาก "เส้นเดียวแยกเป็นสองเส้นและแยกจบที่สามเส้น" ผมจึงเรียกว่า "เส้นวิ่ง หนึ่ง - สอง -สาม"


ลักษณะการวิ่งของเส้น (หนึ่ง - สอง -สาม) 




    ซึ่งเส้นแตกนี้ ที่ปรากฏในพระรอดองค์อื่นทั่วไป จะไม่ปรากฏเส้นวิ่งตั้งแต่บ่าลงมา แต่จะปรากฏเหลือเฉพาะส่วนข้อศอกหรือปีนขึ้นบนแขนเหนือข้อศอกแล้วก็หายไป "พระรอด..." องค์นี้จึงน่าจะเป็นพระที่พิมพ์จากแม่พิมพ์แรกๆ ก่อนที่จะมีการถอดแม่พิมพ์ที่สอง ที่สาม และแต่งแก้ไขรายละเอียดเพิ่ม จึงทำให้เส้นวิ่งตั้งแต่ข้างใบหูซ้าย (พระกรรณซ้าย)..หายไปจากการแต่งพิมพ์ 


อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๓) แนวเส้นแม่พิมพ์แตก (เส้นวิ่งกิ่งโพธิ์)

    แนวเส้นวิ่งหรือเส้นแตกสุดคลาสสิคอีกจุดหนึ่งของพระรอดพิมพ์ใหญ่ (องค์นี้) คือแนวเส้นแตกหรือเส้นเกิน ดูคล้ายกิ่งโพธิ์ที่หย่อนกิ่งลงมารับหรือบรรจบกับก้านใบโพธิ์ได้อย่างพอดิบพอดี
    ลักษณะความเป็นธรรมชาติของเส้นนี้ จะเริ่มที่ส่วนเส้นหนานูน ข้างส่วนยอดพระกรรณซ้าย แล้วยื่นหย่อนลงมา หนาบ้าง บางบ้าง โค้งบ้าง จางหายบ้างและตรงหรือโค้งบ้าง ดูเป็นธรรมชาติ ไม่วิ่งลงไปทื่อๆ

อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๔) รอยขีดเส้นฐานและช่องไฟเส้นแตกสามเส้น

    ด้วยความที่น่าจะเป็นพระ..ที่พิมพ์ในลำดับต้นๆ ร่องลายเส้นสายที่เกิดจากการแกะแม่พิมพ์จึงยังคงอยู่และชัดเจน
   ช่องไฟ - ลักษณะของเส้นแตกมหัศจรรย์ที่จบลงด้วยการแยกออกเป็นสามเส้น ปรากฏช่องไฟมีระยะห่างที่ลงตัว และไม่ปรากฏเส้นตัดขวางของเส้นแซมฐานวิ่งผ่านในทุกช่องไฟ
รอยขีดเส้นฐาน - ร่องลายที่เกิดจากการแกะช่องแม่พิมพ์ระหว่างเส้นฐาน มีลักษณะเป็นเส้นขีดลงมา จนดูเหมือนเส้นซี่ลูกกรง ซึ่งพระ..ที่พิมพ์ตามครั้งหลังๆ เส้นซี่ลูกกรงนี้อาจจะเลือนหายไป เนื่องจากการสะสมตัวของมวลเนื้อสสารที่เบ้าแม่พิมพ์

(ภาพรวม)




อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๕) เส้นผ้าทิพย์และเส้นแซมฐาน








    ความเป็นพระรอดวัดมหาวัน (พิมพ์ใหญ่) อัตลักษณ์แห่งความคลาสสิคอีกจุด ที่จะขาดเสียมิได้ คือเส้นผ้าทิพย์และเส้นแซมฐาน

    เส้นผ้าทิพย์ - ผ้าทิพย์คือผ้าเอกลักษณ์ ที่ใช้รองประทับนั่งแล้วโผล่ยื่นออกมา ซึ่งมีเฉพาะรูปเคารพองค์  พระพุทธ..เท่านั้น       
    ลักษณะเป็นเส้นวิ่งบางๆ ดูเป็นธรรมชาติ และไม่เป็นเส้นเดียวกัน มุดเลือนหายไปใต้พระชานุซ้าย (เข่าซ้าย) แล้วค่อยๆโผล่หลังเส้นแตกสองเส้นที่ยื่นลงมา..
    ในองค์พระ....ที่พิมพ์ครั้งหลังๆ อาจจะเหลือเส้นผ้าทิพย์เฉพาะตรงช่วงกลางเท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ยกกล่าวมาแล้วข้างต้น


เส้นแซมฐาน - คือเส้นวิ่งระหว่างฐานชั้นบนสุดกับฐานชั้นรองลงมา มีลักษณะของเส้นที่วิ่งไม่ต่อเนื่อง ดูเป็นธรรมชาติ บิดพริ้วสวยงามเนื่องจากปฎิกิริยาจากไฟความร้อนที่เผาและวิ่งตัดกับเส้นแตกสามเส้น โดยเว้นช่องไฟภายใน นับว่ามีความคลาสสิค มหัศจรรย์มาก..

    ลักษณะของเส้นวิ่งแซมใต้ฐานนี้ มักจะปรากฎความหนาบางไม่เท่ากัน หากสังเกตให้ดี ความหนาของเส้นเกิดจากการม้วนพับลงมาของเส้น เนื่องจากปฏิกิริยาของความร้อนที่เกิดจากการเผานั่นเอง จึงทำให้เส้นม้วนห่อตัวลงมา ดูเป็นสันหนา




อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๖) มิติพระรอด (องค์ในภาพ)


(มิติองค์พระ)


    ในความเป็นจริงแล้ว ผมค้นพบว่าพระรอดมีปฏิมากรรมแบบลอยตัว โดยช่าง..ผู้แกะแม่พิมพ์ พยายามยกแยกส่วนลำพระองค์ ให้ลอยออกมาจากพื้นผนังโพธิ์ด้านหลัง เฉกเช่นเดียวกับองค์พระประธานปูนปั้นในโบสถ์ทั่วๆไป ที่จะประดิษฐานตั้งเด่นออกมาจากผนังด้านหลังองค์พระ...
    และในองค์พระรอดพิมพ์ใหญ่นี้ ผนังข้างฝั่งด้านขวาองค์พระ หากพิจารณาให้ดี จะนูนสูงกว่าผนังฝั่งด้านซ้ายองค์พระ โดยเฉพาะบริเวณด้านข้างพระพักตร์


       แนวลาดเอียงบริเวณไหล่องค์พระรอด.. แสดงมิติความสูงต่ำและเป็นปฏิมากรรมแบบนูนลอยตัวชัดเจน


(มิติองค์โพธิ์)


    กลุ่มโพธิ์ที่มีมิติ ลอยตัวเด่น  จึงทำให้พื้นที่รอบๆองค์พระเทลาดเอียงลง เว้าลงเป็นแอ่งนิดๆ (สังเกต- โพธิ์ยอดสูง โพธิ์ที่สูงที่สุด)


    พระรอด..ปฏิมากรรมพระเครื่องที่เล็กที่สุดในชุดพระเบญจภาคี แต่กลับมีรายละเอียดของฝีมือเชิงช่างที่สวยงาม ละเอียดอ่อน และแฝงด้วยความน่าเกรงขามเป็นที่สุด

อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๗) ทองกร (กำไลข้อมือ)

    
    ปฏิมากรรมพุทธศิลป์แบบทวารวดีทรงเครื่อง อันมีกำไลข้อพระกรหรือทองกรสวมประดับ อันเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธรูปทรงเครื่อง ซึ่งมีมาและเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศิลป์แบบทวารวดี....พันกว่าปีมาแล้ว

    
พระรอด..องค์ในภาพ นับว่ามีรายละเอียดครบทุกมิติ เป็นครั้งแรกที่เห็นทองกรหรือกำไลข้อมือ ซึ่งกำไลข้อมือซ้ายปรากฏเป็นกำไลคู่ ส่วนกำไลข้อมือขวา มองดูเหมือนกำไลวงใหญ่วงเดียว


อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๘) อายุกาล

   พระรอด..วัดมหาวันวนาราม แห่งอาณาจักรหริภุญชัย (ลำพูน) กับกาลเวลาซึ่งลุล่วงมากว่าพันสามร้อยปีแล้ว ร่องรอยช่องว่างและเนื้อมวลสารย่อมมีเปลี่ยนแปลง ดังเช่น...
  • สีผิวมีการเปลี่ยนแปลง
  • พรายดินเสื่อมสลาย 
  • ชั้นผิวที่หลากหลาย
  • มวลเนื้อที่ละเอียด
  • การซ่อมแซมผิวหรือการเกิดของหินปูน(Calcite)
  • ความกลมกลึงของเหลี่ยมสันต่างๆ
  • ดวงพระเนตร (ดวงตา) ดุจมีชีวิต
  การสลายและประสานงอกซ่อมแซมกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ในส่วนฐานใต้ของพระรอดองค์นี้ที่พับม้วนเข้ามา สลายกลายเป็นเนื้อเดียวกันอย่างไม่มีช่องว่างหรือเกิดเนื้อตัน....

อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๙) เนื้อดำ


    ที่สุดแห่งพระ..ลำพูน จนกลายเป็นภาพยนตร์อันโด่งดัง (ลำพูนดำ) คือพระสกุลลำพูนที่มีมวลเนื้อในดำ 
   การมีชั้นผิวในที่ดำ เกิดเนื่องจากความร้อนที่เรียกว่า "ระอุ" หรือแทบจะไม่โดนไฟที่เผาอบเลย อาจจะเป็นองค์ที่วางอยู่ตรงกลางสุดหรือวางชั้นในสุดที่มีพระองค์อื่นบดบังเปลวไฟไว้ สีผิวภายนอกจึงเป็นสีส้มอิฐแบบจางๆอ่อนๆ เนื่องจากโดนไฟน้อย ประกอบกับสารละลายจากภายในมาสะสมคลุมที่ผิวนอกสุด โดยมีเนื้อแท้เป็น...สีดำ      
    ผ่านกาลเวลาหลายร้อยปีหรือมากกว่าพันปีในองค์พระรอด เนื้อมวลสารกลับกลายและเปลี่ยนแปลง ส่วนผิวที่ต้องไฟอ่อนๆจางๆ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพผิวปนสารละลายจากหินปูนที่ออกมาจากภายใน แล้วมาสะสมที่ผิว จึงทำให้ผิวดูหนึกนุ่มและเป็นผิวที่มีความละเอียดสูง ปนมันหน่อยๆ (ยิ่งขัดยิ่งมัน แบบขัดมันปูนฉาบในการก่อสร้าง) ที่นิยมเรียกกันว่า "คราบสีผิว" กลายเป็นชั้นสีผิวที่ปนความหนึกนุ่มจากความละเอียดของหินปูนและธาตุเหล็กที่ละลายออกมาสะสม
    อนึ่ง...เมื่อพระ...กลุ่มดินเผา มวลสารภายในเกิดการละลายสลายตัวให้ธาตุเหล็กและหินปูน น้ำหนักองค์พระจึงแปรเปลี่ยนไปด้วย แบบที่เราเรียกกันว่า น้ำหนักตึงมือหรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 
    ส่วนพระ...องค์ที่ดำทั้งองค์ เกิดจากองค์พระไม่ได้ต้องไฟเลย คือวางอยู่ตรงจุดอับไฟ องค์พระจึงไม่มีผิวไฟ ถ้าเป็นเหรียญที่มีคราบไฟก็จะเรียก "ผิวไฟหรือกะไหล่ไฟ"

(ตัวอย่าง ชั้นคราบผิวและร่องการเซ็ตตัวในหินอัคนีชนิดมวลละเอียด)

   "คราบ" ก็คือวิวัฒนาการย่อยสลายของมวลสสารภายใน แล้วมาสะสมที่ชั้นผิวภายนอก เช่นเดียวกับชั้นผิวของหินหรือกลุ่มหินอัคนี 

อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๑๐) รอยยุบหดด้านหลัง


   ร่องรอยการยุบหดตัว แบบเป็นสันร่องวิ่งขึ้นเป็นเส้นยาวหลายเส้น (ไม่ใช่ลายนิ้วมือ) ตรงกลางระหว่างเส้นคือร่องยุบตัว ร่องรอยเหล่านี้มักปรากฏในพระเนื้อดิน
    พระที่มีความเก่ามากๆ อย่างพระรอดองค์นี้ เส้นสันจะเห็นชัดและมีร่องยุบตัวลึก 

(ตัวอย่าง ร่องการเซ็ตตัวในหินอัคนีชนิดมวลละเอียด)

   อนึ่ง...ร่องยุบตัวแบบนี้มักเกิดในชั้นผิวของหินเช่นเดียวกัน
  อนึ่ง...ร่องยุบตัวแบบนี้ ดูคล้ายเส้นลายพิมพ์นิ้วมือ จึงมักถูกเรียกผิดๆว่าเป็น "ลายพิมพ์นิ้วมือ" ซึ่งความจริงคือร่องรอยการเซ็ตตัวของพื้นผิววัสดุ...ตามกาลเวลา (ลองส่องดูลายพิมพ์นิ้วมือเรา)
   อนึ่ง...เส้นลายพิมพ์นิ้วมือในองค์พระก็มีปรากฏอยู่..เช่นในด้านหลังองค์พระนางพญา...พระผงสุพรรณ...เป็นต้น แต่ต้องเป็นเส้นโค้งและโค้งไปในทิศทางเดียวกันและมักปรากฏโค้งเป็นแนวนอน ถ้าชัดหน่อยก็จะเห็นจุดกลางหรือเส้นวงก้นหอย ....
    ส่วนปลายด้านหลังของพระรอด..มักจะงองุ้มไปข้างหน้า เนื่องจากเป็นส่วนที่บางและจากการถูกความร้อน


อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๑๑) ปีกพระรอด





   ปีกพระรอดหรือเนื้อปีก คือเนื้อส่วนเกินเลยจากขอบแม่พิมพ์ออกมาด้านข้างทั้งสองข้าง พระรอด..เป็นพระที่ไม่ตัดขอบปีก เพราะเป็นพระขนาดเล็ก หากมีการตัดเนื้อปีกอาจเป็นการทำให้องค์พระชำรุดด้วยเนื้อองค์พระที่อาจติดมา

    "การม้วนบิดแบบปลาหมึกย่าง" เมื่อนำพระ..มาเผาอบ จะเกิดการม้วนบิดพับของเนื้อส่วนเกินหรือเนื้อปีกโดยจะม้วนพับบิดงอและม้วนพับสวนทางกับทิศทางของความร้อน เช่นเดียวกับการย่างปลาหมึกแห้ง....


อัตลักษณ์ ส่วนที่ (๑๒) ผิวคราบเหลืองไพล


  ผิวคราบเหลืองไพลหรือคราบเหลืองอมส้มนิดๆ เกิดขึ้นได้เฉพาะพระเนื้อดินที่มีอายุหลายๆร้อยปีขึ้นไปถึงพันกว่าปี เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะแวดล้อมของกรุที่มีความชื้นสูงแต่ไม่ถึงกับเปียกและสภาพในกรุสะอาด ทำให้ไม่ปรากฏคราบอื่นๆ เมื่อสารละลายหรือหินปูนภายในละลายตัวออกมาปนกับองค์ประกอบแร่เหล็กในดิน มาสะสมกันที่ผิวพระ จึงทำให้ผิวองค์พระดูมัน ลื่น และละเอียด

  ความชื้น + สารละลายจากภายใน-กลายเป็นคราบพระ

   เกิดในดินกลายเป็นคราบ เช่นเดียวกัน หากเกิดในโลหะ ก็คือสนิมนั่นเอง

(ตัวอย่าง)

    คราบเหลืองไพล 

พระซุ้มกอ กำแพงเพชร กรุวัดพิกุล

(อายุประมาณ ๘๐๐ ปี)


    คราบเหลือง อิฐโบราณอายุประมาณกว่า ๘๐๐ ปี (คำนวณจากปีที่สร้างวัดและลักษณะสถาปัตยกรรม)

    คราบเหลืองที่ปรากฏบนอิฐโบราณ มีลักษณะ มันวาว นุ่ม ดูไม่แห้ง ลักษณะคล้ายกับการเกิดคราบในพระเนื้อดินเผา ที่มีอายุหลายร้อยปีขึ้นไป

    ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด และที่กระผมเขียนเล่ามาไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความเป็นพระรอด แต่เป็นโชคดีของผมที่ได้ครอบครองและนำมาเล่าเผยแพร่ หวังเพียงให้อนุชนคนรุ่นต่อๆไปได้ศึกษาและสืบสานเรื่องราวให้คงอยู่ ซึ่ง "พระรอด...คือ..ศรัทธาวัฒนธรรม" ของคนล้านนาอย่างแท้จริง






ภาพและเรื่อง โดย...นักเดินทางเข้าป่าและเล่าเรื่อง
ร.ต.อ.อภิชาติ ปัดภัย 
สงวนสิทธิ์ ๒๕๖๑
apichatimm@gmail.com