พงไพร ผีป่า นางไม้

พงไพร ผีป่า นางไม้

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เรื่องเล่าสู่ตำนาน ตอน..พระผงสุพรรณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี (เมืองพันทูม)

พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ (หน้าฤษี) กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี (เมืองพันทูม เมืองพระยาศรีธรรมาโศกราช )



    พระผงสุพรรณ องค์สวยคมสมบูรณ์ แบบพระสภาพเดิมๆ ยังไม่ผ่านการอาราธนาใช้ หาชมได้ยากยิ่ง ส่วนพระผงสุพรรณองค์ในภาพนี้ ยังอยู่ในสภาพเดิมๆ ค่อนข้างสมบูรณ์ กระผม..ได้เพียรพยายามศึกษาอยู่เป็นระยะเวลานาน จึงได้ค้นพบสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์หรือตำหนิพิเศษ  ที่คิดว่าเป็นจุดที่แสดงถึงความสวยคมสมบูรณ์เป็นพิเศษ แห่ง...พระผงสุพรรณ 

ตำหนิเอกลักษณ์..พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ (หน้าฤษี) 

๑.พระพักตร์ฤษี (ใบหน้าแบบผู้กำลังบำเพ็ญ)


    พระพักตร์...ที่ค่อนข้างกลมป้าน ดูละม้ายคล้ายคนจริงไม่เหมือนพระพักตร์มหาบุรุษ(พระพุทธเจ้า) หรือแบบพระพักตร์ของพระพุทธรูปทั่วๆไป - บุคคลิกที่ดูคล้ายผู้กำลังบำเพ็ญ สุขุม วางสงวนในท่าทีแห่งผู้มีอำนาจบารมี น่าเกรงขาม
     กระผม..จึงเรียก...พิมพ์พระพักตร์ฤษี  และดูคล้ายๆกับพระพักตร์พระพิมพ์ซุ้มกอ..แห่งเมืองกำแพงเพชร


๒.พระมาลาชั้นสูง แบบ ๓ ชั้น สายพระเนตรหลบทอดลงต่ำ

พระมาลาชั้นสูง แบบ ๓ ชั้น
    ลักษณะพุทธศิลป์แบบอู่ทองที่สำคัญประการหนึ่ง คือ..การสวมพระมาลา ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการแต่งเครื่องทรงประดับชั้นสูง สวมเครื่องทรงแต่งประดับด้วยพระมาลา(หมวกเครื่องทรง) แบบ ๓ ชั้น คล้ายพระรอด ลำพูน หรือพระซุ้มกอ กำแพงเพชร

สายพระเนตรทอดลงต่ำ
     เปลือกดวงพระเนตรด้านซ้ายเป็นสันนูน รีเฉียง หลบสายพระเนตรทอดลงต่ำ เสมือนผู้มีความอ่อนน้อม และสายพระเนตรเฉียงซ้ายแบบผู้ปล่อยวาง แต่แฝงด้วยบารมี น่าเกรงขาม ดูสุขุมเยือกเย็น

๓.พระกรรณ - หนวดหนู หูช้าง

   พระกรรณซ้าย..ลักษณะเป็นผืนใหญ่ มีร่องเส้นโลหิต (เส้นเลือด) ลักษณะกางโบก ภาพรวมดูคล้ายๆกับใบหูช้างไทย
   พระกรรณขวา..มีเส้นยึดกับพระพักตร์ แหลมยาวสองเส้น ตวัดวาดเฉียง ดูคล้ายหนวดหนู


๔.พระกรรณ (หู) ขวา รูป ร เรือ ปลายแหลมฉมวก

    พระกรรณ (หู) ด้านขวา มีลักษณะเป็นรูปคล้ายอักษรไทย รูปพยัญชนะ ร เรือ แต่มีหัวเป็นเงี่ยงบากแหลม คล้ายๆปลายฉมวก
    ลักษณะของเงี่ยงบากแหลม น่าจะเกิดจากเส้นขอบนอกของสันริมขาดหายไป เลยดูคล้ายบากเงี่ยงแหลม


๕ .พระอุระ (อก) แบบกระโหลกศรีษะช้าง

    กระผมว่า..พระ..พุทธศิลป์แบบอู่ทอง มีความโดดเด่นมากที่พระอุระ ซึ่งเป็นแบบเน้นทรวดทรงเอวที่คอดผอม เช่นกัน..และพระผงสุพรรณส่วนมากเอวครึ่งล่างจะยุบตัวลง แยกส่วนบน - ล่าง อย่างเห็นได้ชัด ปรากฏเส้นวิ่งเป็นทิวริ้วจากการยุบตัว

๖.จุดเนื้อเกิน - เอกลักษณ์

    บางท่าน...อาจจะเรียกว่า กลุ่มเม็ดผด แต่เมื่อพิจารณาแล้ว กระผมว่า..เป็นกลุ่มหรือจุดเนื้อเกินมากว่า เพราะพบลักษณะเช่นนี้อีก ในพระผงสุพรรณอีกหลายๆองค์ และปรากฏในตำแหน่งเดียวกัน กลายเป็นอัตลักษณ์ของพระผงสุพรรณไปโดยปริยาย
    หากเป็นกลุ่มเม็ดผด ก็(อาจจะ) มีปรากฏในพระเนื้อดิน แต่กระจายไปในตำแหน่งที่แตกต่างกันไป


๗.การแกะแม่พิมพ์ต่อเนื่อง

    ลักษณะการแกะแม่พิมพ์ต่อเนื่อง จึงทำให้ส่วนตั้งแต่พระชานุ (เข่า) ทั้งสองข้าง มีความต่อเนื่องกัน มีมิติที่ลอยนูนสูง และมีการเซาะร่องให้ลึก เพื่อให้ได้มิติองค์พระที่สมบูรณ์
    ร่องรอยที่เกิดลึกจากการเซาะร่อง พลอยทำให้นิ้วพระหัตถ์ขวาทั้งสี่นิ้วเลือนหายไปด้วย

๘.คราบยางไม้

    ลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพระผงสุพรรณ คือกรรมวิธีการชุบรักษาเนื้อองค์พระด้วยยางไม้ (ปัจจุบันเรียกว่า...รักหรือยางรัก) คล้ายกับกรรมวิธีการทำพระ...สกุลพระเครื่องเนื้อดินแห่งเมืองกำแพงเพชร จนกระผม...ผู้เขียนสันนิษฐานว่า...พระผงสุพรรณ น่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกันกับพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร ดัง..ตำนานที่จารึกในลานทองกล่าว...กันมาว่า "เสร็จแล้ว ให้นำ....ไปประดิษฐานยังพระสถูปเจดีย์ ณ เมืองพันทูม" ซึ่งแสดงความหมายได้ว่า..พระผงสุพรรณ ได้มีการทำ ณ สถานที่อื่นหรือในเมืองอื่น แล้วจึงได้อัญเชิญหรือนำมาประดิษฐานไว้ในพระสถูปเจดีย์  ณ เมืองพันทูม ในยุคพระยาศรีธรรมมาโศกราช ดังจารึกหรือที่...เมืองสุพรรณบุรี แห่งนี้ ซึ่งกระผม...จะได้กล่าวต่อไป เกี่ยวกับการค้นพบพระพิมพ์เนื้อดินเผา ที่ละม้ายคล้ายคลึงกับพระผงสุพรรณ ในโอกาสต่อไป
    ยางไม้...ที่นำมาชุบเพื่อรักษาองค์พระผงสุพรรณ เป็นยางไม้ที่มีสีดำหรือสีเทาดำหรือสีน้ำตาล ซึ่งมีความแตกต่างจากยางไม้ที่ชุบรักษาผิวองค์พระเครื่องเมืองกำแพงเพชรโดยเฉพาะพระซุ้มกอ จะไม่มีสีหรือมีความใส สามารถมองเห็นผิวเนื้อในองค์พระพิมพ์...ได้
    ยางไม้...ทำให้พระพิมพ์เกิดความคงทน ไม่แตกหักหรือตกบิ่นง่าย  และยางไม้ ในพระพิมพ์ดินเผาแห่งเมืองกำแพงเพชร ยังได้เพิ่มความเงางามให้กับองค์พระได้อีกด้วย
    คราบยางไม้...ที่ปรากฏเป็นคราบดำ ในพระผงสุพรรณ ดูคล้าย "ราดำ" จึงมีการเรียกว่า "คราบรารัก" ซึ่งปรากฏได้ทั้งองค์ที่มีราดำ หรือไม่มีราดำ หรือมีได้ทั้ง ราดำและคราบยางไม้


๙.ตำหนิพิเศษ แสดงถึงความสวยคม สมบูรณ์


นิ้วพระบาท (นิ้วเท้า) ครบทั้ง ๕ นิ้ว

    นิ้วพระบาทหรือนิ้วเท้าขวา ปรากฏครบชัด ติดทั้ง ๕ นิ้ว ซึ่งแสดงถึงความสวยคม สมบูรณ์ ของพระพิมพ์เนื้อดินเผา ซึ่งรายละเอียดเล็กๆแบบนี้ จะพิมพ์ติดได้ค่อนข้างยาก หรือพิมพ์ติดได้ในองค์พระที่พิมพ์ในลำดับแรกๆเท่านั้น จะว่าเป็น "พระผงสุพรรณ องค์ปฐม" ก็ว่าได้



ด้านหลังพระผงสุพรรณ

  ด้านหลังพระผงสุพรรณ ตามจารึกลานทอง กล่าวไว้ว่า "....ให้พิมพ์ด้วยลายมือของ..พระมหาเถระปิยทัศสะสี ศรีสารีบุตร"  
    ลายนิ้วมือ.. จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ประการสำคัญอีกประการหนึ่งของพระผงสุพรรณ แต่หากองค์ไหนที่ปรากฏลายนิ้วมือไม่ชัดเจน ก็ยังไม่ใช่ข้อยุติ จึงน่าจะพิจารณาจากจุดอื่นๆ เช่นเนื้อหาและความเก่า...เป็นต้น
    ในแนวคิดด้านกรรมวิธีการทำพระ..ลายนิ้วมือด้านหลังองค์พระ จึงเกิดจากแรงกดมวลเนื้อเข้าไปในเบ้าแม่พิมพ์ด้วยนิ้วหัวแม่มือเป็นหลัก  ในการทำองค์พระ...เพื่อให้ได้ครบจำนวนทั้ง ๘๔,๐๐๐ องค์ ตามจำนวนพระธรรมขันธ์ ลายนิ้วมือจึงไม่น่าจะกระทำได้ด้วยบุคคลเพียงคนเดียว กระผม..ผู้เขียนจึงเห็นว่า การพิจารณาพระผงสุพรรณ จึงน่าจะพิจารณาจากองค์ประกอบจุดอื่นเป็นหลักที่สำคัญโดยเฉพาะเนื้อหาและความเก่า
   พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่มีมวลเนื้อที่ละเอียด เนื่องจากผ่านกาลเวลามาประมาณกว่าหกร้อยปี มวลเนื้อจึงสลายตัว การสลายตัวของโมเลกุลทำให้ได้มวลเนื้อละเอียด เช่นเดียวกับพระรอด วัดมหาวัน ลำพูน

พระรอด พิมพ์ใหญ่ เนื้อดำ(คราบเหลืองไพล) วัดมหาวัน ลำพูน


 พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ (หน้าฤษี) กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี (เมืองพันทูม เมืองพระยาศรีธรรมาโศกราช )



    และการเกิดหรือการแปรสภาพเป็นหินปูนแทรกในพระเนื้อดินทั่วๆไปทำให้เกิดความแกร่ง พระผงสุพรรณจึงมีมวลเนื้อที่ละเอียด แกร่ง  ในบางองค์..ได้ความหนึกนุ่มปนเข้ามาด้วย

โดย...นักเดินทางเข้าป่าและเล่าเรื่อง

ร.ต.อ.อภิชาติ ปัดภัย 
สงวนสิทธิ์ ๒๕๖๑
apichatimm@gmail.com

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ไขปริศนาผิวดำใส .. พระซุ้มกอดำ เมืองกำแพงเพชร


พระซุ้มกอดำ พิมพ์ใหญ่ ไม่มีลายกนก กรุวัดพระบรมธาตุ 


     พระซุ้มกอดำ เมืองกำแพงเพชร เป็นที่น่าสงสัยและสับสนมานานแล้วว่า ทำไมพระซุ้มกอ จึงมีผิวที่ดำสลับมันวาว 
    จากตัวอย่างองค์พระรูปด้านบน กระผม...ผู้เขียนได้เพียรพยายามศึกษา จนกระทั่งได้ค้นพบว่า พระซุ้มกอ...มีผิวที่ดำหรือดำใส นั้นเกิดจาก..การนำองค์พระไปชุบด้วยยางไม้ แล้วนำไปเผาหรืออาจจะเผาอบในหม้อภาชนะ    
     องค์พระที่ชุบด้วยยางไม้ แบบปนการตกตะกอน จะทำให้ผิวองค์พระมีความขุ่นหรือใสในบางจุด 
     องค์พระที่ชุบด้วยยางไม้แบบใสสะอาด ปราศจากสารตกตะกอน ผิวองค์พระที่ได้ จะมีความใส หรือใส มันวาว มีความสวยงามมากกว่า
     
     ดิน..เมื่อเผาแล้วสัมผัสความร้อนน้อย..หรือ..อบ..หรือ..ได้รับความร้อนน้อยแบบไม่โดนเปลวไฟเลย จึงทำให้เนื้อหาองค์พระผิวภายนอกใกล้เคียงสีเดิม ส่วนเนื้อหาภายในจะมีสีดำหรือเทาดำ อันเกิดจากความร้อนที่เรียกว่า "การระอุ" เช่นเดียวองค์พระที่วางในตำแหน่งที่ไม่สัมผัสกับเปลวไฟ เนื้อพระจะดำเนื่องจากการระอุด้วยความร้อน



คราบดินเดิม

    ส่วนของคราบเนื้อดินเดิมที่ไม่ติดคราบยางไม้ ดูหนึกนุ่มและละเอียด สีเหลืองแบบสีพิกุลหรือสีเหลืองไพล เป็นการละลายของสสารจากภายในปนแร่เหล็กในดินออกมา จึงกลายเป็นชั้นผิวใหม่หรือคราบหรือคราบเหลือง

    คราบยางไม้ที่ชุบองค์พระ เป็นยางไม้ที่มีคุณสมบัติไม่มีสีหรือแบบใส จึงสะท้อนสีดำของเนื้อพระข้างในออกมา บางจุดจะสะท้อนสีดินเดิมที่แห้งซีดตามอายุขัยออกมาให้เห็น แลดูดำด่างเป็นธรรมชาติ คราบยางไม้ทำหน้าที่ห่อหุ้มแบบเคลือบผิว จึงทำให้ผิวพระซุ้มกอดำ...ดูมันวาว โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสันเรียบ คล้ายๆกับการเคลือบผิววัสดุด้วยแลคเกอร์  (Lacquer) ในปัจจุบัน และเมื่อขัดถูผิวองค์พระ ผิวจะลอกเป็นขุยเล็กๆ อันเกิดจากยางไม้ ส่องด้วยกล้องส่องกำลังขยายสูงจะมองเห็นได้

คราบยางไม้

    
      คราบ "ยางไม้"หรือปัจจุบันเรียกว่า "รักไม้" ในส่วนที่เคลือบตึงและบาง จะดูเป็นมันวาว ลื่น ใส เห็นผิวในดำ มักจะปรากฎตรงส่วนสันนูนต่างๆ และในส่วนที่ยางไม้ ไหลมาตกตะกอนรวมกัน หรือมีความหนามากกว่าส่วนอื่นๆ จะมีความขุ่นที่เกิดจากการตกตะกอนของยางไม้หรือแบบสีเทาเข้ม ไม่ใส มองไม่เห็นผิวพระ มักจะปรากฏตามแอ่งเว้าในมิติองค์พระ


พระซุ้มกอดำ พิมพ์ใหญ่ ลายกนก กรุฤษี

(องค์อัญมณีดำ)

การชุบเคลือบด้วยยางไม้ สวยงาม


พระซุ้มกอดำ พิมพ์ใหญ่ ลายกนก กรุฤษี

(องค์พิมพ์ทรงพระฤษี)



พระซุ้มกอคราบเขียว ยางไม้ พิมพ์ใหญ่ ไม่มีลายกนก กรุวัดพระบรมธาตุ

(องค์อัญมณีเขียว)



พระซุ้มกอดำ พิมพ์ใหญ่ ไม่มีลายกนก กรุวัดพระบรมธาตุ 




พระซุ้มกอโทนสีอื่น ชุบด้วยยางไม้

     ดิน..เมื่อเผาแล้วสัมผัสความร้อนน้อยหรือได้รับความร้อนน้อยแบบไม่โดนเปลวไฟ จึงทำให้เนื้อหาองค์พระมีสีดำหรือเทาดำ  แต่เมื่อสัมผัสไฟที่อุณภูมิสูงมากๆ เนื้อพระจะเขียวแบบเขียวหินครก แน่นและแกร่งแบบหิน  แต่ดูหนึกแน่น ไม่กระด้างแบบพระทำเลียนแบบ        เมื่อเผาที่อุณหภูมิสูง คราบยางไม้จึงถูกทำลาย ตัวอย่างพระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ (องค์ภาพล่าง) เป็นพระซุ้มกอที่นำมาชุบยางไม้ภายหลังการเผา แล้วตากให้แห้ง หรือเป็นการชุบยางไม้ดิบ คราบยางไม้ที่ปรากฏจึงเห็นได้ชัดเจน และไม่ได้ซึมซับเข้าไปในเนื้อพระ เนื่องจากเนื้อพระ มีความแข็งแกร่ง เมื่อขัดถูองค์พระแล้วส่องด้วยกล้องส่องกำลังขยายสูง จะเห็นขุยพระที่เกิดจากยางไม้


พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ ลายกนก เนื้อผ่านสองสี กรุฤษี



    เนื้อพระที่แกร่ง แต่ดูหนึกนุ่มจากอายุกาล ไม่กระด้างและมีความหลากหลาย พระที่ทำเลียนแบบ สามารถทำเลียนแบบสีผ่านได้ แต่จะดูแข็ง กระด้าง ไม่มีความหนึกนุ่ม ความหนึกนุ่มก็คือความหนาแน่นบวกกับความแกร่งเนื้อละเอียดและแฝงด่วยความฉ่ำนวล  พระที่ทำเลียนแบบ ไม่สามารถทำให้เกิดความหนึกนุ่มได้  ต้องอาศัยกาลเวลาเท่านั้น
   


    พระพิมพ์ที่ทำมาจากเนื้อปูนหรือที่มีปูนผสม จะปรับสภาพให้มีความหนึกนุ่มได้เร็วกว่าพระพิมพ์ที่ทำมาจากเนื้อดิน เพราะพระพิมพ์เนื้อดินต้องอาศัยปัจจัยความชื้นและการเกิดของหินปูนเป็นหลัก 

โดย...นักเดินทางเข้าป่าและเล่าเรื่อง

ร.ต.อ.อภิชาติ ปัดภัย 
สงวนสิทธิ์ ๒๕๖๑

apichatimm@gmail.com

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เล่าเรื่องก่อนเป็นตำนาน ตอน..พระเปิม เมืองกำแพงเพชร

พระเปิม เมืองกำแพงเพชร



   พระเครื่องในตำนานแห่งอาณาจักรหริภุญชัยหรือพระเครื่องสกุลลำพูน พุทธศิลป์ต้นกำเนิดแบบทวารวดีอันโด่งดัง ถูกค้นพบครั้งแรกในตัวเมืองลำพูนปัจจุบัน 
   พระเปิม..พระเครื่องสกุลลำพูนอีกตำนานหนึ่งของพระเครื่อง ที่นิยมเสาะแสวงหามาครอบครองของเหล่าผู้ศรัทธาหรือนักนิยมพระเครื่อง ไม่แพ้พระเครื่องเมืองลำพูนชนิดอื่นๆ อันเป็นตำนานร่วมสร้างมาไม่น้อยกว่าหนึ่งพันปี
   พระเครื่องเมืองกำแพงเพชร มีอัตลักษณ์และแบบแห่งพุทธศิลป์ที่โด่งดังไม่แพ้พระเครื่องเมืองอื่นๆ เช่น พระลีลากำแพงเม็ดขนุน พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงงบน้ำอ้อย..เป็นต้น
    แต่หนึ่งในการค้นพบโดยกระผม...ผู้เขียน กลับพบว่าพระเครื่องแบบสกุลเมืองลำพูน ถูกค้นพบและขึ้นปะปนมาพร้อมกันกับพระเครื่องกรุเมืองกำแพงเพชร ไม่ว่าจะเป็นพระรอด พระคง พระรอดกำบังไพร พระลือ แต่ก็มีเป็นจำนวนน้อยมาก  
    ณ ครั้งนี้ จะได้นำมาให้เพื่อการสืบต่อการค้นคว้า เฉพาะ..พระเปิม...กรุเมืองกำแพงเพชร

เนื้อหาที่..ใสใน นวล..ที่ผิวนอก




    เนื้อหาของพระเปิม กำแพงเพชรองค์นี้ มีคราบผิวนอกที่ขาวนวล แต่ในส่วนเนื้อในกลับดูใส ปรากฏเม็ดแร่ต่างๆ

เม็ดแร่







    อย่างไรก็ตามพุทธศิลป์แห่งความปราณีต รายละเอียดต่างๆยังคงไม่ละเอียดเท่าพระเปิมลำพูน แต่ด้านเนื้อหาของพระเปิมเมืองกำแพงเพชร กลับมีเสน่ห์ นุ่มนวล ดึงดูดสายตาเป็นอย่างยิ่ง


โดย...นักเดินทางเข้าป่าและเล่าเรื่อง
ร.ต.อ.อภิชาติ ปัดภัย 
สงวนสิทธิ์ ๒๕๖๑
apichatimm@gmail.com