พงไพร ผีป่า นางไม้

พงไพร ผีป่า นางไม้

วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

"หนึ่งในตำนานแห่งองค์ฤษีผู้วิเศษ - One of the legend of the sacred Hermits. ".." พระซุ้มกอ - Pra Sum Kor "




ซุ้มกอองค์ดำ ลายกนกเต็ม 

"มหาตบะ บารมี"






   "สมเด็จบาง นางหนา ท่านว่าไว้ พระรอดนุ่มหนึกใน คล้ายสีผึ้ง ผงสุพรรณดินกรองต้องตราตรึง ซุ้มกอซึ้ง แร่มะขาม งามจับใจ"



  ใครมีกูไว้ไม่จน  จากคำจารึกในตำนาน ที่เล่าสืบขานกันต่อๆมา ถึงคำบอกเล่า เกี่ยวกับการค้นพบ พระกรุอันโด่งดังแห่งกรุในพื้นที่ที่เรียกว่า "ลานทุ่งเศรษฐี" เมืองกำแพงเพชร เมืองอันเป็นเมืองแห่งมรดกโลก ในปัจจุบัน...ดังคำขวัญประจำจังหวัด 

พระซุ้มกอแดง (เนื้อชั้นหิน)



“กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ เลื่องลือมรดกโลก”



หนึ่งในแม่พิมพ์ (ตัวผู้) พระพิมพ์ซุ้มกอ



    กำแพงเมือง ป้อมปราการ ทำมาจากหินศิลา แข็งแกร่งดุจเพชร ตั้งตระหง่านยืนหยัดคู่กาลเวลา ผ่านการศึกสงครามมาหลายครา บัดนี้รากไม้ใหญ่ขอยึดเพื่อใช้อยู่อาศัย บรรยากาศมีความอึมครึมดูเข้มขลัง ให้หวนนึกถึงเหตุการณ์ครั้งในประวัติศาสตร์แบบรู้สึกได้



"อุทยานประวัติศาตร์ เมืองมรดกโลก กำแพงเพชร"
แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เมืองกำแพงเพชร (ชากังราว)



    พระเครื่องที่พบในกรุลานทุ่งเศรษฐี ที่ค้นพบหรือแตกกรุมาตั้งแต่ครั้นสมัย สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรมรังสี ) ในคราวเสด็จขึ้นไปเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร มีมากมายหลายพิมพ์ ล้วนแต่เป็นที่เสาะแสวงหาของผู้คนทั่วไป ปราถนาอยากมีไว้ในครอบครอง เช่น..พระกำแพงลีลาเม็ดขนุน.. แต่ที่เป็นที่โด่งดังและเป็นตำนานในการค้นพบที่ไม่เหมือนใคร โดยเป็นตำนานเล่าขานกันถึงบทจารึกลานเงินในกรุ ที่แปลความหมายได้ว่า  ใครมีกูไว้ไม่จน ....จารึก  พิธีการสร้างพระซุ้มกอคาถาหัวใจการสร้างพระและอื่น ๆ ทำให้พระเครื่องกรุลานทุ่งเศรษฐีกำแพงเพชร พิมพ์ซุ้มกอ หรือพระพิมพ์ซุ้มกอ กลายเป็นตำนานเล่าขานในหมู่นักนิยมพระ หรือประชาชนทั่วไป อย่างมิรู้จบ....

    "พระพิมพ์ซุ้มกอ".. พระกรุเก่าแห่งลานทุ่งเศรษฐีในยุคประมาณกว่า ๗๐๐ ปี มีความเกี่ยวพันกับการสร้างและประจุมนต์ตราแห่งองค์พระฤษี...ดังตำนานอีกบทหนึ่ง กล่าวถึง....."พระยาศรีธรรมาโศกราช เสด็จสู่ลังกาทวีป ได้รวบรวมอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ครั้งนั้นพระฤษีผู้มีฤทธิ์คาถาอาคมแก่กล้าจำนวน ๑๑ ตน โดยมีพระฤษีพิมพิลาไลย์ พระฤษีตาไฟ และพระฤษีตาวัว เป็นประธานแห่งองค์ฤษีทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันสร้างพระพิมพ์ถวายเพื่อเป็นพระพุทธบูชาและสืบกาลอายุพระพุทธศาสนาถวายแด่พระยาศรีธรรมาโศกราช" ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับจารึกลานทอง ในการค้นพบพระผงสุพรรณ วัดพระศรีนัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี ก็กล่าวถึงการสร้างโดยองค์พระฤษี ผู้มีมนต์ โดยกษัตริย์ "พระยาศรีธรรมาโศกราช" เป็นผู้มีราชศรัทธา....องค์พระฤษีเป็นผู้สร้าง....แล้วให้นำไปประดิษฐานยังเมือง.."พันทูม หรือ เมืองพันทูมบุรี " เป็นการตีความตามนัยยะ ได้ว่า ...
๑.โดยการอุปถัมภ์ของพระยาศรีธรรมาโศราช 
๒.โดยการสร้างและประจุมนตราแห่งองค์พระฤษี
๓.โดยเพื่อบรรจุในพระเจดีย์ ในเมืองแว่นแคว้นต่างๆ
 (เช่นเมืองพันทูม (พันทูมบุรี) ในจารึกลานทอง แห่งการพบพระผง
  สุพรรณ)

    ในยุคสมัยประมาณ ๖-๗๐๐ ปี อาณาจักรที่น่าจะร่วมยุคสมัยหรือในอยู่สมัยเดียวกัน ในแถบลุ่มแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ มีอาทิ..อาณาจักรหริภุญไชย สระหลวง สองแคว ศรีสัชนาลัยสุโขทัย สุพรรณบุรี ลพบุรี นครศรีธรรมราช ...

วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง นครชุม



    ณ ที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะพระเครื่องกำแพงซุ้มกอ หรือพระกำแพงซุ้มกอ อันเป็นตำนาน ที่กล่าวขานกันมาตราบเท่าทุกวันนี้...เท่านั้น


"วัดซุ้มกอ (นาตาคำ)" ...วัดในตำนานพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร 



พระกำแพงพิมพ์ซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีกนก กรุเก่า ลานทุ่งเศรษฐี (องค์ที่ ๑)

รูปแบบพุทธลักษณะพระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีกนก

    พุทธลักษณะแบบสุโขทัยทรงเครื่อง นั่งขัดสมาธิบนฐานบ้ว ในองค์ที่พิมพ์ติดชัด จะเห็นฐานบัวเป็นแบบบัวเล็บช้าง มีซุ้มกนกรายรอบองค์พระ ขอบขององค์พระ จะมีลักษณะโค้งมน คล้ายอักษรไทย ตัว ก.ไก่ จึงเป็นที่มาของการเรียก "พระกำแพงซุ้มกอไก่ หรือ พระกำแพงซุ้มกอ"


(ด้านหลัง - แร่ทรายเงิน ทรายทอง สวยงาม) (องค์ที่ ๑)


พระกำแพงพิมพ์ซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีกนก กรุเก่า ลานทุ่งเศรษฐี

 (องค์ที่ ๒) แบบผนังชั้นรอบองค์พระที่มีลายกนก ตั้งลึกชันมาก

    มีลักษณะคล้ายพระที่เผาไฟแล้วชุบรัก ซัดด้วยน้ำว่านอีกครั้ง สังเกตุคราบน้ำว่านวิ่งเป็นริ้วสวยงาม คราบน้ำว่านหลากสี แบบสีเขียวขาวแดงนวล องค์พระมีสีสันสวยสดงดงามแบบมันปู แข็งแกร่ง น้ำหนักเบาแต่หนึบ  มีความแกร่งคงทนสภาพกว่าสีอื่นๆ เช่นสีดำ สีเขียว (เทามอย) ซึ่งจะแข็งและแกร่งกว่า แต่ก็ตกกระเทาะแตกง่ายกว่า...


(ด้านหน้า องค์ที่ ๒)


(ด้านหลัง องค์ที่ ๒)



    จากคำบอกเล่าและที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่สามกล่าวว่า ผู้สร้างพระซุ้มกอเป็นพระฤษีผู้มีฤทธิ์เดช คาถาอาคมขลัง ตรงตามตำนาน จำนวน ๑๑ ตน มีพิธีการสร้างที่มีขั้นตอนเคร่งครัดมาก  และสร้างถวายเพื่อเป็นพุทธบูชาสืบอายุกาลพระพุทธศาสนา บรรจุไว้ในพระเจดีย์ลานทุ่งเศรษฐี และเป็นการสร้างเจดีย์ถวายแด่พระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นคือ พระยาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย....

    การค้นพบพระกำแพงซุ้มกอ... 

    จากหลักฐานและคำบอกเล่าท้องถิ่น แบ่งออกเป็นสองระยะคือ ในระยะแรกเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรมรังสี) ขึ้นไปเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร (ชากังราว) ได้ค้นพบศิลาจารึกหลักที่ ๓ ที่วัดเสด็จ (ปัจจุบันศิลาจารึกอยู่ที่กรมศิลปากร) ซึ่งมีผู้นำมาจากวัดพระบรมธาตุนครชุม ซึ่งมีข้อความแปลความหมายได้ว่า..."ที่ฝั่งตรงข้ามเมืองชากังราวมีเจดีย์  ๓  องค์  ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระยาลิไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ได้ให้ราชบุรุษไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาจากลังกาทวีป เมื่อวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา พ.ศ.๑๙๐๐" ซึ่งขณะนั้น เจ้าผู้ครองเมืองกำแพงเพชร คือ พระยารามรณรงค์สงคราม (น้อย) จึงได้ชักชวนประชาชนไปแผ้วถางบริเวณดังกล่าวและได้พบพระบรมธาตุเจดีย์จำลอง จำนวน ๓ องค์ ริมฝั่งแม่น้ำปิง ตรงตามที่ระบุไว้ในหลักศิลาจารึก เมื่อทำการตรวจดูภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์จำลอง รื้อส่วนที่ชำรุดออก ก็พบพระเครื่องจำนวนมาก  ในจำนวนพระเครื่องดังกล่าวปรากฏว่ามีพระซุ้มกอสีดำ สีแดง สีขาวและสีเขียว ขนาดพิมพ์ใหญ่อย่างเดียว เป็นพระลักษณะนั่งสมาธิบัวด้านล่างเป็นบัวแบบสุโขทัย นอกจากนั้นยังพบใบลานเงินจารึกอักษรโบราณ  พิธีการสร้างพระกำแพงซุ้มกอ พระคาถาหัวใจการสร้างพระพิมพ์และอื่น ๆ อีก ซึ่งใบลานเงินนี้เล่ากันว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรมรังสี) ได้นำไปแปลและสร้างพระสมเด็จวัดระฆังที่โด่งดังทั่วเมืองไทย.....
    ต่อมา...พระยาตะก่า คำนิยมเรียกพ่อค้าชาวกะเหรี่ยงพม่า ซึ่งมาทำไม้กับบริษัทบอเนียว จำกัด ประเทศอังกฤษ รับอาสาจะบูรณะพระเจดีย์ขึ้นมาใหม่ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่นางไม้ รุกขเทวา เมื่อทำการรื้อเพื่อดำเนินการบูรณะซ่อมแซม จึงได้พบพระเครื่องอิริยาบถต่าง ๆ อีกมากมาย...ทั้ง...พระซุ้มกอดำ พระซุ้มกอขาว และซุ้มกอเขียว..เมื่อพยาตะก่าทำการบรณะสร้างใหม่ แต่ยังไม่แล้วเสร็จพญาตะก่าตายก่อน น้องชายชื่อพะโป้ (มาทำไม้ต่อ) มาปฏิสังขรณ์ต่อและยกยอดฉัตร ซึ่งนำมาจากเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า กลายเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ครอบเจดีย์องค์เล็กทั้ง ๓ องค์ไว้เป็นองค์เดียว มีลักษณะเป็นพระเจดีย์แบบมอญ คือ "เจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม" ในวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ปัจจุบัน ซึ่งเป็นพระเจดีย์ที่ชาวเมืองกำแพงเพชรถือเป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชา นับว่าเป็นเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่และงดงามเก่าแก่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง (ฝั่งนครชุม)  ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง นครชุม





      การค้นพบในระยะที่สอง ประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๐ โดยชาวบ้านเขตทุ่งเศรษฐีท่านหนึ่ง ได้เล่าว่ามีชีผ้าขาว (ชีประขาว) รูปหนึ่งมาเข้าฝัน เล่าให้ฟังว่าที่บริเวณกอไผ่ใกล้ ๆ เจดีย์ลานกรุทุ่งเศรษฐีด้านทิศเหนือนั้น เป็นที่ ๆ ยอดเจดีย์หักฟาดลงมา มีของมีค่าบรรจุภายใน ตนจึงออกไปค้นหาที่โคนกอไผ่ตามคำบอกเล่า....ก็พบพระพิมพ์ซุ้มกอจำนวนหนึ่ง ซึ่งพระพักต์และสีเนื้อองค์พระงดงามมาก จากนั้นพระพิมพ์ซุ้มกอก็เริ่มโด่งดังเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไปทุกสารทิศ ทุกคนไฝ่ฝันอยากจะได้เป็นเจ้าของ อยากได้สมบัติที่เชื่อกันว่าล้ำค่ากว่าเงินทองหรือทรัพย์สินอื่นใด และในไม่ช้ากอไผ่หนาทึบแห่งนั้นก็ราบหายวับไป รวมทั้งพระเจดีย์น้อยใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณลานทุ่งเศรษฐี ก็ถูกลักลอบขุดจนพังทลายไปด้วย สุดที่จะป้องกันได้ พระที่ปรากฏขึ้นมามีทั้งสมบูรณ์และหักพังเป็นเศษเล็กเศษน้อย ทุกชิ้นส่วนล้วนมีค่าเป็นเงินเป็นทองทั้งสิ้น ทุกคนมีความเชื่อกันว่า แม้เศษหักของพระพิมพ์ซุ้มกอ ก็ยังทรงอานุภาพด้วยอิทธิฤทธิ์ มหาเวทมนต์พระคาถาแห่งองค์พระฤษีผู้เรืองเดช ...เรืองเวทย์ และเรืองอาคม..

พระซุ้มกอ..ขาว เม็ดแร่ดอกมะขามสัณฐานกลมกลึง





พระกำแพงพิมพ์ซุ้มกอขาว (ดินดิบ) กรุวัดพระบรมธาตุ



    พระกำแพงซุ้มกอขาว คือพระเนื้อดินดิบที่ไม่ผ่านการเผา จึงทำให้มีวรรณะที่ดูนุ่มนวลตา

"พระพิมพ์ซุ้ม พิมพ์กลาง องค์แกะพิมพ์พระเกศทะลุเป็นเส้นกนก"




    พระซุ้มกอ พิมพ์กลางองค์นี้ แกะเส้นพิมพ์ส่วนพระเกศ ทะลุออกเป็นเส้นพิมพ์ลายกนก ซึ่งเป็นเส้นแบ่งครึ่งส่วนองค์พระ คราบเนื้อหาพระยังมีความเป็นธรรมชาติของผิวคราบกรุเดิม

"พระพิมพ์ซุ้มกอดำ องค์เข้ม..พุทธศิลป์แบบทรงพลัง อำนาจ"


    พระพิมพ์ซุ้มกอดำ องค์นี้ พุทธศิลป์แบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ประภามณฑลรัศมี..วางช่องไฟได้สวยงามลงตัว พระมาลา..มียอดพระเกศแบ่งเป็นสามชั้นเห็นได้อย่างชัดเจน พระพักตร์มีขนาดใหญ่แบบวงรีขนานเส้นประภามณฑล วางตั้งรับกับพระศอ..ซึ่งมีขนาดที่หนาใหญ่ เห็นแนวเส้นรัศมีประภามณฑลคล้ายการห่มคลุมผ้าพันคอ โดยมาบรรจบกับเส้นชายจีวรที่พาดเฉียงลงมาม้วนเข้าสู่หว่างพระพาหา (รักแร้) พระศอที่ดูหนาเข้มใหญ่..ไล่ระดับลงมาสู่พระอุรา (อก) ที่ดูบึกบึน ทำให้องค์พระ ดูมีพุทธศิลป์แบบเข้มขลัง ทรงพลังอำนาจเป็นอย่างยิ่ง





"พระพิมซุ้มกอดำ องค์ทรงพลังอำนาจ"



พระซุ้มกอ พิมพ์ขนมเปี๊ยะ พิมพ์ขนาดเล็ก


   พระพิมพ์นี้แตกกรุ ครั้งเมื่อมีการปรับพื้นที่การฝึกของหน่วยงานหนึ่งในสมัยนั้น ซึ่งตอนนั้นพระองค์เล็กๆ ไม่ใคร่จะมีใครสนใจมากนัก

เปรียบเทียบขนาดกับเหรียญหนึ่งบาท


     พระพิมพ์พิเศษ มีการแต่งตอกเล็บมือ หลังจากพิมพ์พระเสร็จแล้ว




พระซุ้มกอทรงเครื่อง พิมพ์กำไลรัด ๑๘ วง

   เป็นพระพิมพ์ที่แตกกรุออกมาในคราวเดียวกันกับพระซุ้มกอ พิมพ์ขนมเปี๊ยะ ขนาดเล็ก ด้านบน

พระซุ้มกอทรงเครื่อง พิมพ์กำไลรัด ๑๘ วง

    ปิดท้าย ด้วยพระซุ้มกอทรงเครื่ององค์นี้ คราบกรุเดิมๆ อลังการ์ด้วยกำไลรัดมีทั้งหมด ๑๘ วง ซึ่งจะได้เขียนวิเคราะห์แยกเป็นบทความในอีกหัวข้อต่างหาก

ภาพเปรียบเทียบพระกำแพงซุ้มกอ


แม่พิมพ์พระพิมพ์ซุ้มกอ (ตัวผู้) 

  
     ภาพ...แม่พิมพ์พระกำแพงซุ้มกอ แบบองค์พระแกะเป็นลายเส้นนูนสูง หรือที่เรียกว่า "แม่พิมพ์ตัวผู้" ซึ่งเป็นแบบแม่พิมพ์แรก ปั้นแกะด้วยเนื้อดินแล้วนำไปเผาไฟให้แกร่ง เมื่อทำแม่พิมพ์ตัวผู้เสร็จแล้ว จึงนำมวลดินก้อนที่ยังนุ่มอ่อนอยู่ มาอัดพิมพ์เข้าไปในบล้อคพิมพ์ตัวผู้ แล้วจึงแกะออกมา ทำให้ได้แบบแม่พิมพ์พระที่มีส่วนเส้นสายเส้นลึก ส่วนองค์พระที่เว้าและลึกเข้าไปข้างใน เรียกว่า "แม่พิมพ์ตัวเมีย" จากนั้น จึงนำไปเผาไฟ ให้ได้แบบพิมพ์ (ตัวเมีย) ที่จะนำมาพิมพ์เป็นองค์พระ...ต่อไป ซึ่งนี้คือภาพหนึ่งในหลายๆแบบของแม่พิมพ์พระกำแพงซุ้มกอ..เท่านั้น

    ภาพ..พระกำแพงซุ้มกอ ยังคงมีการปรากฏออกมาและมีการค้นพบองค์น้องใหม่ซึ่งทยอยออกมาในละแวกท้องถิ่นและถิ่นแถวจังหวัดใกล้เคียงเมืองกำแพงเพชรอยู่เรื่อยๆ ซึ่งจะได้ทยอยลงพิมพ์เพิ่มในบทความ และเพื่อการต่อยอดทางความรู้...ของผู้ที่สนใจและของผู้เขียนเอง ซึ่งจะได้มีการปรับปรุงบทความพร้อมรูปภาพตามวาระโอกาส...ซึ่งผู้เขียนมิได้มีเจตนามุ่งหวังการชี้ความเป็นพระแท้ พระปลอม จุดเป็น จุดตาย แต่เจตนาเพื่อการศึกษาวิวัฒนาการและความเป็นธรรมชาติของพระ...เท่านั้น




"ธรรมชาติ...ยากต่อการเลียนแบบหรือปลอมแปลง"

เขียนและเล่าเรื่องโดย...ร.ต.ท.อภิชาติ ปัดภัย  (ชาติ เชียงราย) ..Knowledge are endless. 
"การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด" สงวนสิทธิ์รูปภาพ ๒๕๖๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น