"สะพานอธิษฐานสำเร็จ..ซูตองเป้"
"ตลาดเช้าเมืองแม่ฮ่องสอน"
ปลายเดือนมกราคม ๒๕๕๙ กับการเดินทางมาถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอนในเวลาย่ำค่ำตะวันลับขอบฟ้าแล้ว ทำการสำรวจตัวเมือง พร้อมกับหาที่พักไปด้วย บรรยากาศในตัวเมืองดูไม่ใหญ่โต แต่ก็กระจุกตัวอยู่ตามภูมิประเทศ แบบเมืองในหุบเขา กับถนนสายเล็กๆที่ไม่แออัดไปด้วยจำนวนรถราเหมือนดังเช่นในเมืองใหญ่ๆ บรรยากาศเมืองดูเรียบง่าย เงียบสงบ มีแต่ร้านค้า ร้านอาหารเล็กๆน้อย สลับร้านอาหารแบบสไตล์ยุโรป ไว้บริการแก่นักท่องเที่ยว
ตื่นแต่เช้า เวลาตีห้ากว่าๆ วางแผนการท่องเที่ยว เพื่อที่จะเดินทางไปตักบาตรพระ และชมสะพานไม้ไผ่...ซูตองเป้ ที่สร้างด้วยแรงศรัทธา เพื่อให้พระสงฆ์เดินข้ามฟากมาบินฑบาตจากญาติโยม
จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ขับรถออกนอกเมืองไปประมาณ 8-9 กิโลเมตร เส้นทางไปอำเภอปางมะผ้า เลี้ยวซ้ายตรงแยกทางไปบ้านกุงไม้สัก สังเกตุจะมีป้ายไปพระตำหนักปางตอง ปางอุ๋ง บ้านรักไทย ภูโคลน อยู่ริมทาง ขับรถมาได้ประมาณห้านาที เจอป้ายหมู่บ้านกุงไม้สัก ให้แยกขวาเข้าไปตามถนนในหมู่บ้าน
ป้ายหมู่บ้าน อพป.กุงไม้สัก ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน พร้อมป้ายแสดงทางไปสะพานซูตองเป้ แยกขวามือ
ไม่นาน..ก็มาถึงลานจอดรถ ใกล้กับที่ตั้งสะพานซูตองเป้ มีห้องสุขาบริการ น้ำเย็นเฉียบ เหลือบดูนาฬิกาก็ประมาณเกือบหกโมงเช้า ฟ้ายังมืดอยู่ เห็นมีร้านค้าแบบร้านขายของชำเปิดแต่เช้าตรู่ คงไว้ให้บริการแก่ผู้ที่จะใช้เวลาในชั่วโมงเร่งด่วน เช่นเด็กนักเรียน ผู้ที่จะไปเรือกสวนนาไร่แต่เช้าตรู่ มีข้าวสุก ขนมมันหวาน อาหารพื้นเมืองแบบเป็นถุง จะซื้อมาทานหรือหาเสบียงไว้ตักบาตรก็พอได้นะครับ โดยพระจะมาบินฑบาตประมาณหกโมงเช้า โดยจะเข้าไปบินฑบาตในหมู่บ้านและย้อนกลับมาอีกประมาณเจ็ดโมงเช้าหรือใกล้เคียง
ลานจอดรถ ห้องสุขาอยู่ด้านหลัง
ทางเดินลงไปจากลานจอดรถ มีสินค้าพื้นบ้านจำหน่าย
"ป้ายสะพานอธิษฐานสำเร็จ สะพานซูตองเป้"
"ต๋าแหลว..ไม้ไผ่สาน"
"ต๋าแหลว" คติความเชื่อของทางล้านนา ตามหมู่บ้าน ตามชนบท หาพบเจอได้ยาก บางทีพบเจอแล้วก็ยังไม่รู้ด้วยว่ามีความหมายหมายถึงอะไร วันนี้ได้พบเจอแขวนตรงหัวสะพานและบางช่วงของสะพาน จึงถือโอกาสค้นคว้าเล่าประกอบเรื่องเลย
"ต๋าแหลว" คือเครื่องรางที่สานด้วยไม้ไผ่ เว้นให้มีรูตรงกลาง เสมือนตาของนกเหยี่ยวที่กำลังจ้องมอง ซึ่งคนเมืองล้านนาเรียกนกเหยี่ยวว่า..แหลว เชื่อกันว่านกเหยี่ยวหรือแหลว มีดวงตาที่สามารถมองเห็นได้แต่ไกล สามารถสอดส่องได้กว้างไกล ทางล้านนาจึงนิยมทำต๋าแหลว เพื่อใช้สอดส่องดูแล กันสิ่งไม่ดี สิ่งอันเป็นอัปมงคล สิ่งอาถรรพ์หรือขึด มิให้เข้ามากล้ำกราย โดยจะนิยมปักหรือแขวนไว้หน้าบ้าน เช่นบ้านที่มีงานพิธีกรรม งานมงคล งานวัด...เป็นต้น แม้กระทั่งกระผม..ผู้เขียน ได้เคยเดินทางไปในป่าบนดอยสูง พบหมู่บ้านชาวเขาเผ่าหนึ่ง ยังแขวนต๋าแหลวไว้หน้าบ้านและบนหลังคา และห้ามมิให้ผู้คนแปลกหน้าเข้าไปในบ้าน จึงสอบถามจากชาวบ้าน จึงทราบว่าเป็นบ้านของ...คนคลอดลูกใหม่....
พระลงมาบินฑบาตประมาณหกโมงเช้า
นักท่องเที่ยวเริ่มทยอยมาทำบุญตักบาตร
"สะพานอธิษฐานสำเร็จ..ซูตองเป้"
"สะพานอธิษฐานสำเร็จ..ซูตองเป้" ..เป็นสะพานไม้ ปูพื้นด้วยไม้ไผ่ ความกว้างประมาณ ๒ เมตร ความยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร เชื่อมระหว่างสวนธรรมภูสมะ ข้ามแม่น้ำแม่สะงา ข้ามไร่ข้ามนาถึงหมู่บ้านกุงไม้สัก เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร และเพื่อให้ประชาชนที่มีพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณริมฝั่งแม่น้ำสะงา ได้ใช้ในการสัญจรไปมา โดยการอำนวยการสร้างของพระครูปลัดจิตพัฒน์ อคคฺปัญโญ ประธานสงฆ์สวนธรรมะภูสมะ ได้รวบรวมศรัทธาชาวบ้าน นำพาพระภิกษุ สามเณร ชาวบ้าน ร่วมกันสร้าง ซึ่งได้วางเสาเอกการสร้าง ในวันศุกร์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔ พร้อมคณะศรัทธาชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ร่วมกันอธิษฐานและร่วมเป็นเจ้าภาพ บริจาคจตุปัจจัย ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๒ เดือน กับ ๑๒ วัน เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๔
พระปลัดจิตพัฒน์ อคฺคปัญโญ ได้อธิษฐานเพื่อจะสร้างพระบนเนินเขา คือ.."พระเจ้าพาราซูตองเป้" และสร้างสะพานซูตองเป้ให้สำเร็จในปีเดียว และสำเร็จภายในเวลา ๘ เดือน ได้สำเร็จดั่งที่ได้อธิษฐานไว้ จึงได้ชื่อว่า "สะพานอธิษฐานสำเร็จ"
"ซูตองเป้" เป็นภาษาไทยใหญ่ แปลว่า อธิษฐานสำเร็จสัมฤทธิผล
ข้างสะพานเป็นที่ทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน
"แม่น้ำสะงา"
ร่องรอยสะพานถูกสายน้ำซัดขาด คราฝนตกหนักที่แล้ว ก็เลยหยอดตู้ทำบุญ ช่วยสร้างสะพาน สงสัยหน้าฝนน้ำป่าคงจะมาแรงน่าดู
ทางขึ้นสวนธรรมภูสมะ
"สวนธรรมภูสมะ" ตั้งอยู่บนเชิงดอยไม่สูงมากนัก
"พระเจ้าพารา ซูตองเป้"
วิหาร..พระเจ้าพารา ซูตองเป้
"ถึงแล้ว...ซูตองเป้"
"ห้องอธิษฐาน"
ภายในมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำห้องอธิษฐาน
ป้ายอธิษฐาน แขวนอยู่โดยรอบ
ผมชอบป้ายคำอธิษฐานของป้ายนี้..จังครับ
รูปปั้นใบหน้า.. เพ่งมองอยู่นาน..จึงคิดว่าน่าจะเป็นพระพักตร์ปริศนาธรรม เกี่ยวกับอารมณ์ของมนุษย์
ปริศนาธรรม "ปิดหู ปิดปาก ปิดตา เปิดใจ"
"ปิดหู..เพื่อให้ใจสงบ ปิดปาก..เพื่อฟังคนอื่นเขาบ้าง ปิดตา..เพื่อให้เห็นได้ที่ใจ เปิดใจ..เพื่อรับเอาในสิ่งที่ดีๆ"
รูปปั้นท่านสุเมธดาบสฤษี ผู้อธิษฐานจะบำเพ็ญบารมีเป็นพระพุทธเจ้า ปั้นไว้ให้ได้เคารพกราบไหว้ และอธิษฐาน อยู่เชิงทางขึ้น ริมหัวสะพาน
ตลาดเช้าเมืองแม่ฮ่องสอน..ตลาดสายหยุด
เทา..เตา..ไก...หรือสาหร่ายน้ำจืด พบเห็นยากแล้ว ว่าแล้ว..อยากกินคั่วไกเลยเรา..
แผ่นถั่วเน่า เครื่องปรุงหลักของอาหารในถิ่นล้านนาภาคเหนือ จะเอามาย่างไฟอ่อนๆ ให้กลิ่นหอมๆ แล้วทานเลยก็ได้ หรือจะเอามาตำทำน้ำพริก แต่ผมชอบเอามาทำเครื่องประกอบน้ำพริก ทำน้ำเงี้ยว ได้รสชาติอาหารเมืองเหนือจริงๆ
ป้าหญิง...ข้าวปุกงาแบบโบราณ หรือจะเรียกว่า ข้าวหนุกงา ข้าวคลุกงา ตามแบบทางภาคเหนือ ..คือการนำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกใหม่ๆ ตำโขลกกับ งาเม็ดกลมๆเล็กสีน้ำตาลเทา เติมเกลือนิดๆ รสชาติออกเหนียวหนึบ มันปนเค็มนิดๆ เป็นของกินล้านนาแบบพื้นเมืองดั้งเดิมจริงๆ ...ในช่วงฤดูหนาวตอนเช้าๆ ในช่วงชีวิตวัยเรียน ข้าวนึ่งสุกใหม่ๆ มาตำกับงา เติมเกลือ แล้วปั้นเป็นก้อน กัดกินแข่งกับเวลาแต่งตัวไปโรงเรียน เป็นของกินแบบง่ายๆ ได้โปรตีน วิตามิน แถมอิ่มนานด้วย ฮ่าๆๆๆ คงจะคล้ายๆแบบฝร้่งเขากินอาหารด่วนแบบแฮมเบอร์เกอร์ละมั้ง
ปัจจุบันหากได้มีโอกาสขึ้นไปจังหวัดเชียงราย เวลาไปกาดเช้าหรือไปตลาดเช้าเมืองเหนือ ผมจะมองหาร้านกับข้าวพื้นเมือง แผงที่มีแม่อุ้ยหรือพ่ออุ้ยขาย อาจจะมีข้าวหนุกงาห่อด้วยใบตอง ใบตองตึงหรือใบเต็งรัง วางขาย ...เป็นของกินบ้านเฮาแบบโบราณจริงๆ อร่อยแบบคลาสสิก....
"ข้าวปุกงา สูตรโบราณ..ป้าหญิง..ตลาดเช้า เมืองแม่ฮ่องสอน"
แม่ค้า..ปรุงข้าวปุกงาแบบโบราณ สูตรราดด้วยน้ำอ้อย ให้เราทานแบบสดๆ ห่อด้วยใบตองตึงหรือใบเต็งรัง อร่อยหวานปนมัน..ได้บรรยากาศตลาดเช้าเมืองแม่ฮ่องสอนจริงๆ
นอกจากนั้นยังมี ข้าวหย่ากู๊ลูกเดือย เอกลักษณ์ของกินถิ่นเมืองแม่ฮ่องสอน เพิ่งเคยทานครั้งแรกที่นี่แหละครับ รสชาติออกคล้ายๆข้าวปุกงา อร่อยกุ๊บกั๊บด้วยลูกเดือยคลุกเคล้ากับถั่วลิสงเม็ด
ในเดือน ๓ ก่อนวันมาฆบูชา ๑ วัน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามชุมชนต่างๆ จะมีประเพณีหลู้ข้าวหย่ากู๊หรือกวนข้าวหย่ากู๊ด้วยข้าวเหนียวหรือข้าวเหนียวแดง น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำอ้อย กะทิสด เมื่อกวนจนมีกลิ่นหอมและเหนียวแล้ว ก็จะนำไปถวายตามวัดต่างๆ และแจกให้รับประทานในชุมชน เป็นการสมานความสามัคคีภายในชุมชนและจรรโลงพระพุทธศาสนา
ประเพณีนี้มีที่มาจากฐานความเชื่ออันเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยในสมัยเมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ได้เสด็จออกบิณฑบาตโดยเสด็จไปตามหมู่บ้านต่างๆ ผ่านเรือกสวนนาไร่ บังเอิญขณะนั้นเกิดฝนตกโปรยปราย ทำให้ผ้าสบงจีวรของพระพุทธองค์ชื้นเปียกด้วยน้ำฝน พระพุทธองค์จึงได้เสด็จเข้าไปหลบฝนในเรือนโรงนาแห่งหนึ่ง ขณะนั้นเจ้าของโรงนาและชาวบ้านกำลังช่วยกันกวนข้าวหย่ากู๊อยู่ในหมู่บ้าน ครั้นเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จมาบินฑบาตโปรดสัตว์ และกำลังพำนักหลบฝนอยู่ในโรงนาแห่งนั้น ชาวบ้านจึงได้พากันไปเฝ้ารับเสด็จพระพุทธองค์ พร้อมกับนำข้าวหย่ากู๊ไปด้วย และได้ช่วยกันก่อไฟถวาย เพื่อให้พระพุทธองค์ทรงผิงตากผ้าสบงจีวร จากนั้น..จึงได้ถวายข้าวหย่ากู๊แด่พระพุทธองค์ จึงเป็นความเชื่อปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาว่า...หากชาวนาหรือผู้ที่ทำไร่ทำนาได้ทำบุญถวายข้าวหย่ากู๊และให้ทานด้วยข้าวหย่ากู๊ จะทำให้ผลผลิตที่ได้จาการทำนาเพิ่มขึ้นและอุดมสมบูรณ์ทุกปี
ข้าวหย่ากู๊ลูกเดือย...ถั่วลิสงเม็ดมันๆ
นอกจากนั้นยังมีข้าวต้มเมืองหรือข้าวเหนียวยัดไส้ด้วยกล้วยน้ำว้าสุกหรือถั่วดำ ห่อต้มด้วยใบตอง..จนสุก แล้วนำมาแกะคลุกเคล้าด้วยมะพร้าวขูด ทานอิ่มท้องจริงๆ
ข้าวต้มมัด
ปลาส้ม...
และไข่ปลาส้ม..ของโปรดทั้งนั้นเลยนะเนี่ย
ถั่ว...อะไร..จำชื่อไม่ได้แล้วครับ รูปร่างง่องแง้งแปลกๆ ใช้ผัดหรือต้มลวกจิ้มน้ำพริก ลองต้มกินดูแล้ว รสขาติเหมือนต้มหัวสาคู ราคาลิตรละ ๒๐ บาท
ผักแกงแค อาหารเมืองเหนือ
ถั่วเม็ดใหญ่ เอาไปผัดน้ำมันหอย น่าอร่อยดีนะ
ผลไม้ น่าทานทั้งนั้นครับ กล้วยส้ม..ก็มี
สตรอเบอรี่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น