พงไพร ผีป่า นางไม้

พงไพร ผีป่า นางไม้

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2559

ทริปตำนานแห่งการเดินทาง เยือนเมืองแห่งพระอุปคุต จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตอน...เส้นทางช่วงที่ ๒ สบเมย (อนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า) - แม่ลาน้อย


"หมู่บ้านผาผ่า อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน"

"อนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า"

  ทริปการเดินทางสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน  โดยเริ่มต้นการเดินทางผ่านเขตพื้นที่ตัวจังหวัดตาก ไปตามเส้นทาง จากอำเภอเมืองตาก - บ้านตาก - แม่ระมาด - ท่าสองยาง จากนั้นเข้าสู่เขตพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่อำเภอสบเมย หยุดแวะพักค้างคืนที่อุทยานแห่งชาติแม่เงา เขตพื้นที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม๋ฮ่องสอน
    เริ่มเดินทางต่อตอนเช้าตรู่ จากอุทยานแห่งชาติแม่เงา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางสองข้างทางยังเต็มไปด้วยสีสันป่าบนดอยหรือป่าขุนเขา บางช่วงมีไอหมอกขาวลอยปลิวมาปะทะยอดดอย ทำให้บรรยากาศช่างสวยงาม ชวนให้น่ามองน่าติดตามการเคลื่อนที่ของหมอกขาวซะจริงๆ กับเส้นทางที่ยังคดเคี้ยวขึ้นลงไปตามหุบเขา เกียร์ห้าแทบจะไม่ได้ใช้เลย 



    จากเขตอำเภอแม่เงา ที่ตัวอุทยานแห่งชาติแม่เงา จังหวัดแม่ฮ่องสอน มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวอำเภอสบเมย ซึ่งเป็นอำเภอไม่ใหญ่มากนัก ขับผ่านศุนย์ราชการซึ่งตั้งอยู่ริมสองข้างทางโดยไม่ได้แวะพักเก็บภาพถ่าย ถนนยังเป็นเส้นทางสองเลนส์สลับโค้งต่อโค้งไปเรื่อยๆ





"พระธาตุอนันตสิทธิ์รัตนมงคล"
     ตั้งอยู่ริมทาง กับหมู่บ้านชื่่อแปลกดี ตั้งอยู่ที่ "บ้านไหม้" หมู่ ๒ ต.แม่คะตวน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน



พระธาตุอนันตสิทธิ์รัตนมงคล

    มองลงมาจากที่ตั้งพระธาตุ ซึ่งตั้งบนนเนินไม่สูงมากนัก มองเห็นถนนสายเล็กๆ โค้งคดเคี้ยวไปตามหุบเขา แซมสลับด้วยแปลงเพาะปลูกพืชผัก

ไปต่อในเส้นทาง ย้อนมองกลับไปเห็นเนินที่ตั้งพระธาตุฯ 

   ขับเพลินไปตามทางคดเคี้ยวจนกระทั่งมาสะดุดกับป้ายหมู่บ้านแห่งหนึ่ง "หมู่บ้านผาผ่า" หมู่ที่ 1 ตำบลแม่คะตวน อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน หวนให้นึกถึงพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในอดีต "ครูบาผาผ่า" จึงได้สอดส่ายสายตาไปตามริมทางเพื่อที่จะหาป้ายที่ตั้งของวัดครูบาผาผ่า เพื่อที่จะได้มาแวะกราบเป็นสิริมงคล ในช่วงเส้นทางอันเป็นตำนานการเดินทาง


"หมู่บ้านผาผ่า" 


ป้าย.."อนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า"


     ไม่เจอป้ายวัดแต่เป็นป้าย "อนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า" เป็นป้ายที่ตั้งอันแปลกและสะดุดตาแห่งที่สอง จากที่เคยพบเห็นมาแห่งแรกคือ "อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย" ซึ่งอยู่ตั้งในเขตเทศบาลตำบลดงคำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ภายในบริเวณนอกจากจะมีอนุสาวรีย์ของครูบาเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังมีลักษณะของสิ่งปลูกสร้างเช่นเดียวกับวัด ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ วิหาร และเจดีย์


ป้าย "อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย" ตำบลดงคำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 

                                                                  "อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย"

สถานที่ตั้ง "อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย" ตำบลดงคำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 

 "อนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า""หมู่บ้านผาผ่า" หมู่ที่ 1 ตำบลแม่คะตวน อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 


ลานบริเวณโดยรอบที่ตั้งอนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า


มณฑปที่ประดิษฐาน อนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า

รูปปั้นเสือทางเข้ามณฑปที่มณฑปที่ประดิษฐาน อนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า
    รุปปั้นเสือน่าจะสื่อความหมายถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งเป็นนักษัตรประจำปีเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย ตามประวัติที่ผมเคยอ่านพบมากล่าวไว้ว่า ครูบาผาผ่าเป็นพระภิกษุรูปเดียวที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย ยกย่องประกาศเกียรติคุณว่า มีบุญญาธิการบารมีแก่กล้า แต่ไม่ชอบแสดงตนและยอมรับว่าเป็น “ ตุ๊น้องหรือพระผู้น้อง ” ของครูบาเจ้าศรีวิชัย และอีกประการหนึ่งเมื่อสืบตามวัดต่างในภาคเหนือที่มีประวัติว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยได้มาอำนวยการบูรณะซ่อมแซม บางวัดท่านจะให้ปั้นรูปเสือไว้ที่หน้าบันพระวิหารไว้เป็นสัญลักษณ์หลังจากทำการบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จ
    ส่วนครูบาผาผ่านั้น อ่านจากประวัติของท่าน ทราบว่าท่านเกิดปีฉลู แต่ระหว่างครูบาผาผ่ากับครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว มีสิ่งหนึ่งที่คล้ายๆกันคือตนบุญแห่งแม่สะเรียง...ครูบาผาผ่า มีชื่อฟ้องกันกับครูบาเจ้าศรีวิชัย คือระหว่างครูบาเจ้าศรีวิชัยคลอดนั้นมีเหตุการณ์ฟ้าร้องฟ้าผ่า ฝนฟ้าคะนอง ในวัยแรกคลอดจึงมีชื่อว่า...อ้ายฟ้าฮ้อง


ประวัติโดยย่อสามบรรทัด จารึกบนแผ่นไม้ ที่มาของนามท่าน "ผาผ่า"

อนุสาวรีย์ครูบาผาผ่า

    กู่ครูบาเจ้าผาผ่า สถานที่เคยใช้เป็นที่พระราชทานประชุมเพลิงครูบาเจ้าผาผ่า เมื่อ  ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕

บันไดนาค ทางขึ้นสู่พระธาตุครูบาผาผ่าและจุดชมทัศนียภาพหมู่บ้านผาผ่า





พระธาตุครูบาผาผ่า

ทัศนียภาพหมู่บ้านผาผ่า








    ชมปุยหมอกห่มดอยจนชุ่มใจที่หมู่บ้านผาผ่าแล้ว ที่หมายต่อไปคือ ตัวอำเภอแม่สะเรียงกับเส้นทางถนนดำสองเลนส์ ท่ามกลางสภาพอากาศที่ยังคงมีสายฝนโปรยปรายกับช่วงเส้นทางโค้งคดเคี้ยวและลื่นฝน ระบบเกียร์ขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ 4h จึงถูกนำมาใช้ในบางช่วงเพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยในการขับขี่
                     ขับรถมาอีกไม่นานนัก สังเกตเห็นป้ายแยกแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ แสดงว่าใกล้ถึงแยกสำคัญถนนหลักอีกเส้นแล้ว เส้นทางสาย 108 ตัดกับสาย 105 ที่ผมมา

                    แยกเชียงใหม่-แม่สะเรียง ท่ามกลางสายฝนบ่นพรึมพรำ กับเวลาอาหารเที่ยงพอดี


      แยกจุดนี้มีสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง เช่นโรงพยาบาลแม่สะเรียง จึงมีร้านอาหารไว้บริการ ไหนๆก็มาถึงแม่สะเรียงแล้ว ขอใช้บริการร้านอาหารฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเพราะเห็นผู้คนมาใช้บริการมากพอสมควร กับบรรยากาศร้านแบบเพิงพัก น่าจะมีอาหารพื้นเมืองไว้บริการ
                                            แวะพักมื้อเที่ยงที่อำเภอแม่สะเรียง กับร้านอาหารริมทาง

    ส้าจี้น อาหารเมืองเหนือของโปรดมาแล้ว ทดสอบๆ อร่อยทีเดียวได้กลิ่นอายอาหารแบบเมืองเหนือ รสชาติเด็ดทีเดียว อิ่มๆ อร่อยๆ พอเรียกแม่ค้ามาเก็บเงิน ตกใจเลยครับ ส้าจี้นผม จานละห้าสิบบาท มิน่าล่ะ ลูกค้าถึงเยอะเพราะราคาเป็นกันเองนี่เอง

    สะดุดตากับทางขึ้นสำนักงานขนส่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน สาขาอำเภอแม่สะเรียง ตัวสำนักงานตั้งอยู่สูงชันทีเดียว สมกับเมืองปลายดอยจริงๆ




 ป้ายเตือนความสูงชัน พร้อมข้อความ "โปรดใช้เกียร์หนึ่ง"

    ใครที่จะมาสอบใบอนุญาตขับขี่ที่สาขาแม่สะเรียง แค่ผ่านด่านแรก..ทางขึ้น ก็เป็นการเริ่มทดสอบแล้วครับ สำนวน"รู้แล้วจะหนาว"คงจะไม่พอ คงต้องเป็น "เห็นแล้วจะหนาวและเสียว.."

           จากตัวอำเภอแม่สะเรียง เดินทางต่อไปอีก....สู่อำเภอแม่ลาน้อย




                                         นานๆจะเห็นรถแล่นสวนทางผ่านมาหรือขับแซงไปซักคัน

    จากอำเภอแม่สะเรียง ไปอำเภอแม่ลาน้อย  ระยะทางไม่ไกลเท่าไหร่ ถนนบางช่วงมีลาดเส้นทางป้องกันรถลื่นไถล

   เขตตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย เห็นศาลาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ทาด้วยสีด่อนดูโดดเด่นและเป็นลานสถานที่จำหน่ายสินค้า..ตั้งอยู่ริมเส้นทาง

   




    ฝั่งตรงข้ามศาลาเฉลิมพระเกียรติ เป็นเนินที่ตั้งโรงเรียนไท่จง-เทศบาล ๓ แม่ลาน้อย  สถานที่จำหน่ายของที่ระลึก และให้นมแกะ

      เขตตัวอำเภอแม่ลาน้อย 
               จากอำเภอแม่ลาน้อยไปอำเภอขุนยวม อีก ๖๘ กิโลเมตร แม่ฮ่องสอน อีก ๑๓๔ กิโลเมตร


 จากเส้นทางที่ผ่านมาตั้งแต่ย่างเข้าเขตอำเภอต่างๆของจังหวัดแม่ฮ่องสอน สังเกตได้ว่า สถานที่ราชการสำคัญ ย่านธุรกิจ ร้านค้า ร้านอาหาร มีสถานที่ตั้งอยู่ริมทางทั้งสองฝั่ง และกระจุกตัวตั้งอยู่รวมกัน เส้นทางที่ขับผ่านมาจึงเสมือนว่าเราขับผ่านผ่ากลางใจเมืองมาตลอด  เช่นเดียวกับอำเภอแม่ลาน้อย ...เว้นแต่แหล่งท่องเที่ยว อาจต้องใช้เส้นทางหลบถนนหลักเข้าไปอีกตามเส้นทางที่ตั้ง..






2 ความคิดเห็น:

  1. เมืองตาก มีดีกว่าที่คิด ไม่ไป ไม่รู้ ไม่ดู ไม่เห็น เส้นทางถึงแม้จะคดเคี้ยว แต่แฝงไปด้วยความงามของธรรมชาติ สวยงามจิงๆค่ะ

    ตอบลบ
  2. ยินดี ที่มีอีกหนึ่งความคิดเห็นครับ

    ตอบลบ