พงไพร ผีป่า นางไม้

พงไพร ผีป่า นางไม้

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ธรณีวิทยา ปฏิมากรรมกำแพงหน้าผาดิน "ผาจ้อ" อุทยานแห่งชาติแม่วาง อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่



"อุทยานแห่งชาติแม่วาง"

 "ผาจ้อ"

 "ผาจ้อ"..เป็นภาษาถิ่นทางล้านนาหรือภาษาคนเมืองทางภาคเหนือ หมายถึงหน้าผาที่มีลักษณะแตกยอดหรือแตกช่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่มแล้วเหยียดม้วนชูขึ้นไปแบบช่อดอกไม้ผลหรือการม้วนพันห่อหุ้มช่อดอกไม้ จ้อ...จึงหมายถึง...ช่อ ทางภาคกลาง ผาจ้อ..ตั้งอยู่ในเขต "อุทยานแห่งชาติแม่วาง" ในเขตพื้นที่อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ระยะทางประมาณ ๔๕ กิโลเมตร เส้นทางสายเชียงใหม่ - ฮอด และระยะทางจากแยกถนนหลักบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านสามหลัง ตำบลสองแคว อำเภอดอยหล่อ..เข้าสู่ตัวอุทยานอีกประมาณ ๑๕ กิโลเมตร 
      ผมใช้เส้นทางจากถนนหลักสายเชียงใหม่ - ฮอด ในเขตอำเภอดอยหล่อแล้วเลี้ยวเข้าตามถนนรองสายอำเภอแม่วาง - อำเภอจอมทอง 

    ขับรถมาราวๆ ๒๐ นาทีกว่านิดๆ ก็ถึงป้ายตั้งอยู่ริมทาง บอกทางเข้าชมแหล่งท่องเที่ยวผาจ้อ (ผาช่อ) พร้อมกับด่านเสียค่าธรรมเนียม

ป้ายบอกเวลาเปิด

ด่านเสียค่าธรรมเนียม

    ชำระค่าธรรมเนียมเสร็จก็เริ่มลุยกันเลย กับเส้นทางขรุขระ ลูกรังฝุ่นแบบธรรมชาติ

                มีป้ายบอกระยะทางคงเหลือครับ ...อีก ๓ กิโลเมตร


    กับระยะทาง ๕ กิโลเมตร ใช้ระยะเวลานานเกินระยะทางในเส้นทางปกติ เพราะเส้นทางใช้ความเร็วไม่ได้ และแล้วก็ผมก็มาถึงลานจอดรถ

             จากลานจุดจอดรถ มีของที่ระลึกและน้ำดื่มจำหน่าย 


    นั่งกินลมชมวิว จากจุดบริเวณนี้ได้ไกลในระดับใกล้เคียงสายตา นึกถึงในคราหน้าฝนคงจะเขียวชะอุ่มสวยงามมากๆ 


    เส้นทางเดินลงไปชมระยะทางประมาณ ๔๐๐ เมตร ชัน...แต่มีราวให้จับ มาถึงตอนกลางวัน ร้อนเอาการทีเดียวครับ




                    ป้ายศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ มีตลอดแนวทาง

จุดนั่งพักริมทางเดินลง

ป้ายบอกระยะทางครับ...พอให้หายเหนื่อยหน่อย

ทางเดิน...ไปตามแนวร่องท้องแม่น้ำในอดีต

     ทางเดิน...พาให้นึกถึงหลุมสนามเพลาะหรือบังเกอร์ในภาพยนตร์สงครามเลย

    บริเวณนี้เคยเป็นแม่น้ำเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของเปลือกโลก ยกดันตัวขึ้นเป็นภูเขาจนถึงยุคปัจจุบัน จึงยังคงมีร่องรอยการกัดกร่อนกัดเซาะของกระแสน้ำเป็นแนวร่องที่เราเดินในเวลานี้ โดยยังคงมีหินแม่น้ำให้เราเดินนวดฝ่าเท้า แบบสปาอุ้งเท้าไปในตัว...



                          ปฏิมากรรมจิ๋วตามแนวขอบทางเดิน




                         ร่องรอยการชะล้างหน้าดินของน้ำฝน



                                     แนวของสายน้ำไหลในอดีต


ทางขึ้นชม...ผาจ้อ..ลักษณะเป็นเนินชัน พอให้ได้เหงื่อหน่อยๆ


ด้านบนเป็นจุดแวะพักคลายร้อน นั่งเล่น ชมภูมิประเทศได้

ป้ายแนะนำผังการชมภูมิทัศน์ ..ผาจ้อ

   ชมจากมุมมองด้านบนแล้ว ก็มีระเบียงดิน ทางเดินลงไปชมปฏิมากรรมหน้าผากำแพงดินที่เรียกกว่า..."ผาจ้อ"

  ลักษณะภูมิประเทศที่ตั้ง.."ผาจ้อ" ซ่อนตัวอยู่ในผืนป่าโปร่ง เป็นแนวกำแพงหน้าผาคล้ายแบบกำแพงดินขนาดยักษ์ ที่มีซอกหลืบหน้าผาหลบซ่อนเร้นดูอึมครึมลึกลับ ทำให้นึกถึงนครเพตรา ในประเทศจอร์แดน ที่ใช้เป็นฉากถ่ายทำในภาพยนตร์ผจญภัยสุดคลาสสิคเรื่องดังที่ผมชอบมาก "ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า....อินเดียน่า โจนส์"





     ชาวบ้านรู้จักกันมานานแล้ว เรียกว่า.."ผาจ้อ" ตามลักษณะของภูมิประเทศ "จ้อ"...ในภาษาถิ่นล้านนาคำเมืองแปลว่าการแตกดอกออกพวงหรือการชูดอกของไม้ผลหรือการม้วนพันห่อหุ้มช่อดอกไม้จ้อ...จึงหมายถึง...ช่อ ทางภาคกลาง "ผาจ้อ"..เป็นปฏิมากรรมทางธรรมชาติที่เคยเป็นขอบของสายน้ำในอดีตแล้วเกิดการชะล้างผิวหน้าดินไหลลงมากัดกร่อนเป็นรอยยาวตามแนวตั้ง ส่วนยอดที่เรามองเห็นเป็นสีดำปนน้ำตาล คือส่วนที่มีความแข็งที่ยากต่อการกัดกร่อน ส่วนที่เป็นสีเหลืองนวลคือเนื้อดินที่ถูกกัดกร่อนมีขนาดเล็กลงกว่าส่วนยอด จึงมองดูคล้ายลักษณะของก้านของดอกไม้ผล ชาวบ้านจึงเรียกกันเป็นภาษาคำเมืองว่า..."ผาจ้อ"


                   "ผาจ้อ"..ลักษณะการกัดกร่อนแบบแท่งเสา



เส้นทางในขากลับ เดินอ้อมกลับอีกทาง ตามทางเดินน้ำในอดีต




    เป็นช่วงทางเดินแคบๆ เดินเบียดกับแนวอดีตขอบแม่น้ำ จึงเรียกว่า "ฮ่อมกองกีด" หรือช่องทางเดินแคบๆ ที่เต็มไปด้วยหินแม่น้ำประดับสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ





   ชมปฏิมากรรมแปลกตาแล้วได้เวลาเดินทางกลับ ผมใช้เส้นทางเลี้ยวซ้ายกลับออกไปอีกทาง สู่เขตตัวที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วาง

          จากระยะทางลูกรังประมาณ ๒ กิโลเมตร ก็โผล่พ้นถนนดำ




    ผาจ้อ...กับบรรยากาศเหมือนฉากในภาพยนตร์ผจญภัย หากได้กลับมาอีกครั้งคงต้องลองมาในฤดูป่าเขียวหรือยามตะวันไม่สาดแสงแรงกล้า 

2 ความคิดเห็น:

  1. สวยมาก...น่าเที่ยว เส้นทางสายเชียงใหม่-ฮอด คงมีป้ายบอกทางเข้าอุทยาน อย่างเด่นชัด คงหาได้ไม่ยากนะคะ ขอบคุณภาพสวยๆที่นำมาฝาก.

    ตอบลบ
  2. หินผา เหมือนเคยโดนน้ำท่วม

    ตอบลบ