พงไพร ผีป่า นางไม้

พงไพร ผีป่า นางไม้

วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2557

ทริป จากบ้านเมืองกื้ด - สู่พระสถูปเมืองงาย ย้อนรอยทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.แม่แตง - อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ตอน..(1) บ้านเมืองกื้ด

ตอน..(1) บ้านเมืองกื้ด
"ย้อนรอยทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"



     จากตัวเมืองเชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่เขตอำเภอแม่แตง เพื่อจะมุ่งไปยังที่หมายแรก "บ้านเมืองกื้ด" อันเป็นที่ตั้งของวัดเมืองกื้ด สถานที่เกี่ยวข้องในประวัติการเดินทัพขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งปัจจุบันอนุสรณ์สถานที่ยังคงเหลืออยู่ คืออุโบสถและต้นโพ ที่เชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ปลูก

จากอำเภอแม่แตง ใช้เส้นทางเลี้ยวซ้ายตรงแยกทางเข้าปางช้างแม่ตะมาน (บ้านแม่ตะมาน)

เส้นทางเข้าปางช้างแม่ตะมาน (บ้านแม่ตะมาน) ก่อนจะไปบ้านเมืองกื้ด




ธรรมชาติที่สวยงามริมทางบ้านแม่ตะมาน  มองดูแล้วสดชื่่นจริงๆ (ถ่ายจากรีสอร์ตแห่งหนึ่งข้างทาง)



รูปปั้นดินเผาประดับสถานที่ สวยมาก เป็นรูป "หน้ากาล (พระราหูอมจันทร์)"


 เฟิร์นหูช้างหรือกระเช้าสีดา


 "แม่น้ำแม่แตง"






ภาพช้างกับนักท่องเที่ยวแสดงว่าเราเข้าเขตปางช้างบ้านแม่ตะมานแล้ว






      จากปางช้างบ้านแม่ตะมาน ผมมุ่งหน้าสู่บ้านเมืองกี้ด เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้ เส้นทางเป็นถนนลาดชัน สภาพผิวถนนไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก

ธรรมชาติข้างทางยังคงมีให้เห็น



ที่ราบลุ่มน้ำแม่แตง สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์อันยิ่งใหญ่..สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฉาก..ตอนเดินทัพ

      ธรรมชาติป่าเขาที่สมบูรณ์ราบลุ่มลำน้ำแม่แตง สถานที่เชื่อว่าพระองค์เคยใช้เป็นเส้นทางเดินทัพ เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบลุ่มและมีแม่น้ำหล่อเลี้ยงกองทัพ


     มองเห็นควันไฟครุกรุ่นอยู่ลับสายตา ทำให้เรามีอารมณ์ความรู้สึกว่าเคยอยู่ร่วมกับเหตุการณ์ในอดีต




 ปัจจุบันเป็นโรงเลี้ยงช้าง




     จากจุดนี้ขับเลยไปอีกไม่ไกลนัก หลังจากหลุดออกจากโค้งลักษณะหักศอก โค้งสุดท้าย เมื่อมองไปบนยอดเนินเขาเตี้ยๆ ก็จะเห็นส่วนยอดของพระธาตุและพระวิหารวัดเมืองกื้ด ส่วนของสีทองยอดพระธาตุ สะท้อนแสงสีทองเห็นเด่นชัด








หมู่บ้านเมืองกื้ด ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

เมืองกื้ดเป็นเมืองโบราณแต่เป็นเมืองเล็กๆ สันนิษฐานว่าสร้างโดยเจ้าเมืองในสมัยนั้น ประมาณว่าร่วมยุคสมัยเดียวกับเมืองเชียงใหม่ เมืองพร้าว เมืองแหง คือประมาณ ๖๐๐-๗๐๐ ปีล่วงเลยมาแล้ว 

 สภาพพื้นที่หมู่บ้านตั้งอยู่บนที่ราบหุบเขา ลุ่มแม่น้ำแม่แตง

      หลังจากสอบถามเส้นทางกับชาวบ้านแล้ว ก็มุ่งหน้าสู่วัดเมืองกื้ด ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาท้ายหมู่บ้าน



สะพานข้ามลำน้ำแม่แตง


     พอข้ามสะพานมาได้ประมาณ 2 นาที ก็จะพบเห็นต้นโพขนาดใหญ่ มีความสูงมาก ต้องถ่ายภาพจากระยะไกล จึงจะได้ภาพของต้นโพทั้งต้น แสดงว่านี่คือ.."ต้นโพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดเมืองกื้ด" 




 วัดเมืองกื้ด ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

     
     ต้นโพ..ที่เชื่อว่า..สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ..ทรงปลูกไว้ เมื่อครั้งยกทัพมาทางเส้นทางนี้ เพื่อเข้าสู่เมืองคอง เมืองแหง  ปลูกอยู่ด้านหน้าวัดเมืองกื้ด

  ไม้ค้ำศรี (ไม้ค้ำกิ่งโพ) ลักษณะเป็นท่อนไม้ขนาดใหญ่ มีง่ามตรงส่วนปลาย ชาวล้านนาได้ทำขึ้นเพื่อใช้พยุงกิ่งก้านสาขาของต้นโพให้ดำรงอยู่ อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าหากใครได้ทำไม้ค้ำศรีหรือไม้ค้ำกิ่งโพแล้ว จะเป็นมงคลแก่ชีวิต ช่วยพยุงชีวิตและทุกอย่างให้ดีขึ้น และเป็นสิริมงคล

    กิ่งก้านสาขาที่มีขนาดใหญ่และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ ขึ้นเบียดเสียดกันบนกิ่งของต้นโพแต่ละกิ่ง แสดงถึงอายุขัยของต้นโพได้เป็นอย่างดี เป็นต้นโพที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ผมเคยพบมา ยิ่งใหญ่มาก ทำให้มีข้อจำกัดในการถ่ายภาพ ต้องถ่ายภาพแบ่งเป็นส่วนๆ


        เป็นที่น่าสังเกตว่า ต้นโพต้นนี้จะมีใบขนาดเล็กกว้างประมาณ ๒-๓ นิ้วไม่เหมือนต้นโพธิ์ทั่วไปที่มีใบใหญ่ ขนาด ๕-๖ นิ้ว คือใบมีขนาดเล็กกว่าต้นโพที่พบเห็นทั่วไป




       สังเกตขนาดความใหญ่และความสูงของขนาดไม้ค้ำโพ(ไม้ง่าม) บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของกิ่งก้านสาขาต้นโพได้เป็นอย่างดี


เห็นร่องรอยเนินดินเก่าและรอยขุดลอกใหม่




ต้นโพตั้งต้นตระหง่านหน้าวัดเมืองกื้ด 

ทางเข้าวัดเมืองกื้ด


"โบราณสถาน โบราณวัตถุภายในวัด"
     อุโบสถ อายุ 400 กว่าปี หลังการบูรณะในปัจจุบัน อุโบสถที่เชื่อว่าน่าจะได้รับการบูรณะในช่วงสมัยที่องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช คราเสด็จยกทัพและพักทัพบริเวณนี้




                 หน้าบันอุโบสถเป็นแบบ "ม้าต่างไหม" ศิลปะล้านนา (ลักษณะโครงสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมวางซ้อนลดหลั่นกัน จำลองลักษณะการค้าข้ายโดยใช้ม้าบรรทุกสินค้าในสมัยล้านนา)

     ภายในอุโบสถ ประดิษฐานรูปหล่อบูชา "ครูบาพรหมมหาปัญญา"  หรือชื่อพื้นเมืองชาวล้านนา "ครูบาหน้อย" ตามประวัติเคยสนทนาธรรมกับสมเด็จพระนเรศวรมหารราช คราเสด็จมาพักทัพบริเวณนี้


 เล่ากันว่าครูบาพรหมมหาปัญญาหรือครูบาหน้อย ได้ปรารภธรรมกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในคราวที่พระองค์เสด็จขึ้นไปเมืองแหง และได้หยุดพักทัพบริเวณใกล้วัดเมืองกื้ด และยังทรงเสี่ยงทายปลูกต้นโพธิ์กับครูบาพรหมมหาปัญญา โดยพระองค์ทรงปลูกไว้ที่หน้าวัดเมืองกื้ดแห่งนี้

     โครงสร้างสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถ ยังคงเป็นรูปแบบการใช้ไม้ทำสลักยึดแบบโบราณหรือแบบไม้เข้าเดือยแทนการตอกตะปูในปัจจุบัน



บานประตูพระอุโบสถ

 ลวดลายประดับใต้โครงหลังคา

ภาพเก่า แสดงพระอุโบสถอายุ 400 กว่าปี ได้ชำรุดและเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา

 ภาพเปรียบเทียบ อดีต - ปัจจุบัน


บันไดนาคทางขึ้นไปกราบนมัสการ "พระธาตุก้าวหน้า มหามงคลคีรี ศรีเมืองกื้ด"


บันไดนาคยังคงเป็นรูปแบบล้านนา "ตัวมกร(มะกอน)คายนาค"





 "พระธาตุก้าวหน้า มหามงคลคีรี ศรีเมืองกื้ด"



คำไหว้พระธาตุ

 เชิงเทียนบูชาพระธาตุ

ศาลเจ้าแม่เอื้องฟ้า บันดาลโชค

พระอุโบสถที่ประดิษฐาน รอยฝ่าพระหัตถ์พระพุทธเจ้า และรอยพระบาทเกือกแก้ว 
(กำลังก่อสร้าง ปัจจุบันน่าจะแล้วเสร็จ)

 ฝ่าพระหัตถ์





 "รอยพระบาทเกือกแก้วพระพุทธเจ้า"


     หลังจากผมได้สนทนากับครูบาถา เจ้าอาวาสวัดเมืองกื้ด จึงพอจะทราบประวัติโดยย่อดังนี้
    
      "รอยพระบาทเกือกแก้ว" ค้นพบเมื่อวันที่ 2 พ.ย.51 ในตอนเย็น จากการที่พระภิกษุสามเณร ได้พากันกวาดบริเวณทางขึ้นวัดได้พบก้อนหินก้อนหนึ่งอยู่ริมทางเดินมีลักษณะคล้ายรอยเท้าเด็ก แต่ไม่มีนิ้ว จึงคิดว่า น่าจะใช่รอยพระบาท
จากนั้นทางวัดจึงได้นำดอกไม้ธูปเทียนมาสักการบูชา แล้วไปค้นคว้าสอบถามผู้รู้หลายคนบอกว่า จึงทราบว่าเป็นรอยพระบาทของพระอรหันต์ 7 ขวบ ที่ติดตามพระพุทธเจ้าสมัยพุทธกาล และประทับรอยพระบาทเอาไว้เป็นที่ระลึก จึงได้ตั้งชื่อไว้ว่า "พระบาทเกือกแก้วร่มโพธิ์นเรศวร" 
   
    จากนั้นวันที่ 8 ธ.ค.51 ได้มีการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดงานสมโภช พระธาตุก้าวหน้ามหามงคลคีรี ศรีเมืองกื้ดขึ้น ที่ประชุมได้มีมติ จะเอาวงแห่พื้นเมืองมาตั้งบริเวณทางขึ้นหน้าวัด เจ้าอาวาสวัดจึงได้ให้พระภิกษุ สามเณร ทำความสะอาดบริเวณหน้าวัด ได้มีการถอนหญ้าที่รกขึ้นใกล้ก้อนหิน ปรากฏว่าพบรอยพระหัตถ์พระพุทฑเจ้า สร้างความปลื้มปิติยินดีแก่พระ สามเณร และศรัทธาบ้านเมืองกื้ดเป็นอย่างมาก จึงได้ตั้งชื่อว่า"พระหัตถบาทก๊อแก้วเมืองกื้ด" เพราะเจอระหว่างต้นก๊อกับต้นแก้วโดยพระหัตถ์ มีความกว้าง 23 นิ้ว ความยาว 29 นิ้ว แต่ละนิ้วกว้าง 3 นิ้ว หลังจากเป็นข่าวแพร่สะพัดออกไป ก็มีคณะศรัทธาสาธุชนทั่วทุกสารทิศ พากันมากราบไหว้ เพื่อเยี่ยมชมและเพื่อความเป็นสิริมงคลอยู่อย่างต่อเมื่อง



     เสร็จจากทริปนี้แล้วก็ขับมุ่งหน้าขึ้นเหนือ ไปยังอำเภอเชียงดาวเพื่อกราบไหว้พระสถูปเมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่


  โดย..............

3 ความคิดเห็น: