พงไพร ผีป่า นางไม้

พงไพร ผีป่า นางไม้

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562

เล่าด้วยภาพ ว่าไปตามเรื่อง ตอน พระองค์หนึ่งกับหินก้อนหนึ่ง

พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ พุทธศิลป์กำแพงเพชรบริสุทธิ์ 

สุดยอดแห่งตำนาน พระซุ้มกอพิมพ์สองหน้า (หลังแบบ)



พระยอดขุนพล พิมพ์เชียงแสน (พระสิงห์) เมืองกำแพงเพชร








พระซุ้มกอ 



พระซุ้มกอ ชุบเคลือบยางไม้ (สีดำ)

   พระซุ้มกอ องค์ที่ชุบเคลือบด้วยยางไม้สีดำ หนา เมื่อคราบยางไม้หลุดร่อนออกแล้ว จะเห็นมวลผิวเนื้อที่ตึงและละเอียดสวยงาม ดูสดใส มีความหนึกนุ่มหรือแกร่ง เช่นเดียวกับพระเครื่องเนื้อโลหะ เช่นเนื้อทองเหลืองแบบหลวงพ่อเงิน เมื่อยางไม้ (รัก) หลุดร่อนออกแล้ว ผิวก็จะตึงและสดใสแต่หนึกนุ่ม



พระซุ้มกอ พิมพ์เล็ก (หายาก) กรุวัดพิกุล.. เหล็กไหลผุด

   พระซุ้มกอองค์นี้ เป็นชนิดเนื้อที่ชุบเคลือบด้วยยางไม้ ดำใสและบาง คงเหลือคราบยางไม้ให้เห็นทางด้านหลังองค์พระ



                                  พระซุ้มกอ..ขาว เม็ดแร่มะขามสัณฐานกลม




"พระยาศรีธรรมาโศกราช เสด็จสู่ลังกาทวีป ได้รวบรวมอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ครั้งนั้นฤษีผู้มีฤทธิ์คาถาอาคมแก่กล้าจำนวน ๑๑ ตน โดยมีฤษีพิมพิลาไลย์ ฤษีตาไฟ และฤษีตาวัว เป็นประธานแห่งองค์ฤษีทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันสร้างพระพิมพ์ถวายเพื่อเป็นพระพุทธบูชาและสืบกาลอายุพระพุทธศาสนาถวายแด่พระยาศรีธรรมาโศกราช"
 ตำนานพระยาศรีธรรมาโศกราช

พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีกนก เนื้อคราบยางไม้ กรุไหดินเผา วัดพิกุล

พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีกนก เนื้อฟอสซิล สองสี (หายาก) กรุวัดพระบรมธาตุนครชุม

    พระซุ้มกอ แบบมวลเนื้อสองสี เดิมทีก่อนล้างคราบฝุ่นละอองและคราบดินออก มีสีเนื้อเดียวแบบเหลืองอ่อนๆ หลังจากล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วผึ่งให้แห้ง มวลเนื้อจึงปรากฎเป็นสองสี อย่างที่เห็น เนื้อส่วนพระพักตร์ สีเหลืองอมส้ม หนึกนุ่ม ดูสวยงาม



พระลีลาเม็ดขนุน (พระพุทธเจ้าเดินจงกรม) เนื้อเหลืองนวลหิน เอกลักษณ์กรุวัดพิกุล พบในไหดินเผา

 ด้านหลัง เนื้อเหลืองโซนหิน

พระลีลาเม็ดขนุน (พระพุทธเจ้าเดินจงกรม) คราบน้ำว่านเต็มองค์ เนื้อว่าน..ลายไม้ กรุ..ไหดินเผา..วัดป่ามืด

 พระพัตร์ ลายเนื้อไม้ สวยงามมาก มวลเนื้อแกร่งดุจหิน


จารึกโบราณ


  จากจารึกโบราณที่เล่าขานสืบกันต่อมาว่า...เป็นจารึกในแผ่นลานทอง ลานเงิน หรือจารึกจากแผ่นดีบุก ซึ่งคาดว่าจารึกอยู่ในช่วงยุคสมัยอยุธยาตอนต้นนั้น จะนิยมจารึกเป็นทั้งอักษรไทยโบราณ (อยุธยา) หรืออักษรขอม ซึ่งระบุปีที่จารึกเป็นศักราช โดยจะจารึกเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการยกทัพ การศึก ฯลฯ  การทำบุญ.... ส่วนจารึกเกี่ยวกับการสร้างวัดหรือจารึกเกี่ยวกับการสร้างพระพิมพ์ อันเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของชีวิตผู้คนในสัมยก่อน เช่นการทำบุญวันเกิด ก็จะจารึกเกี่ยวกับการสร้างพระพิมพ์ จะระบุจำนวนการสร้างพระพิมพ์ตามจำนวนวันเกิดหรือปีเกิด สืบมาถึงปัจจุบันจะนิยมสร้างพระพิมพ์ตามจำนวนเช่นกัน เช่นในงานพิธีใหญ่ๆอาจจะสร้างตามจำนวนพระธรรมขันธุ์ คือ ๘๔,๐๐๐ องค์ นอกนั้นก็จะมีการสร้างตามจำนวนปีในปัจจุบัน เช่น ปี พ.ศ.๒๕๖๑ ก็จะสร้างพระพิมพ์จำนวน ๒๕๖๑ องค์ การสร้างพระพิมพ์ตามจำนวนพรรษา (อายุ) ของหลวงพ่อผู้ปลุกเสก การสร้างตามจำนวนเลขมงคลที่ลงท้ายด้วยเลข ๙ เป็นต้น

   
    จารึก..อันโด่งดัง เป็นตำนานที่ยังเล่าขานสืบกันต่อๆมา ปรากฏจากการค้นพบพร้อมกับพระพิมพ์ต่างๆภายในเจดีย์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นจารึกบนแผ่นลานทอง ซึ่งจารึกเกี่ยวกับการสร้างพระพิมพ์ ทำให้พระพิมพ์ ที่ปัจจุบันเรียกว่า "พระผงสุพรรณ" เป็นที่โด่งดังไปทั่วและถูกจัดให้อยู่ในชุดพระ "เบญจภาคีประเภทพระเนื้อผงดิน" อันประกอบไปด้วย "สมเด็จวัดระฆัง (กรุงเทพฯ)  พระรอด (ลำพูน)  พระผงสุพรรณ (สุพรรณบุรี)  พระนางพญา (พิษณุโลก) และพระซุ้มกอ (กำแพงเพชร)"



พระผงสุพรรณ



 “ศุภมัสดุ ๑๒๖๕  สิทธิการิยะ แสดงบอกไว้ให้รู้ว่าฤาษีทั้งสี่ตน พระฤาษีพิมพิลาไลย์เป็นประธาน  เราจะทำด้วยฤทธิ์ ทำด้วยเครื่องประดิษฐ์ มีสุวรรณเป็นต้น คือ บรมกษัตริย์ "พระยาศรีธรรมโศกราช " เป็นผู้มีศรัทธา พระฤาษีทั้งสี่ตนจึงพร้อมกันนำเอาแต่ว่าน แร่วิเศษทั้งหลาย  แล้วจึงอัญเชิญเทวดามาช่วยกันทำพิธี สถานหนึ่งแดง  สถานหนึ่งดำ  "ให้เอาว่าน แร่วิเศษ ทำเป็นผงก้อน" พิมพ์ด้วยลายมือของ"พระมหาเถระปิยะทัสสะสี  ศรีสารีบุตร" ผู้เป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น  และให้เอาผงแร่ต่าง ๆ มีอานุภาพต่างกัน  เสกด้วยมนต์คาถาครบ  ๓  เดือน  แล้วท่านให้เอาไปประดิษฐาน ณ พระสถูปแห่งหนึ่งที่เมือง "พันทูม"
                                                 ตำนานจารึกวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี


(ภาพประกอบ)



 และจากจารึกที่มีการค้นพบในเมืองกำแพงเพชรพร้อมกับพระพิมพ์ต่างๆ โดยเฉพาะพระพิมพ์เนื้อดินเผารูปทรงคล้ายตัวอักษร ก.ไก่ ในปัจจุบัน ซึ่งภายหลังเรียกตามรูปทรงของพระพิมพ์..ว่า "พระซุ้มกอ" แห่งเมืองกำแพงเพชร


พระซุ้มกอ ชุบคราบยางไม้ กรุวัดพระบรมธาตุ







พระซุ้มกอ เนื้อเขียวมอย

 ด้านหลัง คราบแร่เหล็ก สีน้ำเงินเข้มออกดำ

ใครมีกูไว้ไม่จน
    ตำนานเล่าขานกันถึงบทจารึกที่เล่าขานกันว่าเป็นจารึกบนแผ่นลานเงินในกรุวัดพระบรมธาตุนครชุม เมืองกำแพงเพชร ที่เป็นวลีเล่าขานกันสั้นๆ..ว่า  ใครมีกูไว้ไม่จน ทำให้พระเครื่องกรุลานทุ่งเศรษฐีเมืองกำแพงเพชร โดยเฉพาะพระซุ้มกอ พระลีลาทุ่งเศรษฐี กลายเป็นตำนานเล่าขานในหมู่นักนิยมพระ เหล่าผู้ศรัทธาในพระพิมพ์ อย่างมิรู้จบ........และยังมีจารึกอื่นๆ  เกี่ยวกับพิธีการสร้างพระพิมพ์ พระคาถาหัวใจการสร้างพระพิมพ์....






พระองค์หนึ่งกับหินก้อนหนึ่ง


    ในหัวข้อเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ กระผมผู้เขียน ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่ได้พบพระพิมพ์ซุ้มกอ แบบพิมพ์ใหญ่ไม่มีกนกและหินก้อนหนึ่ง ด้วยเนื้อหาและวรรณะ (สีองค์พระ)ของพระซุ้มกอ ที่ดูเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ ดูแล้วมีความเย็นใจสบายตา ด้วยวรรณะแบบสีเทาหม่นหรือสีด่อน แซมแต่งในจุดที่ลงตัวด้วยเม็ดสีส้ม สีแดง ทำให้ดูแล้วมีความสวยงามอันมีความเป็นอัตลักษณ์มาก กลายเป็นเรื่อง... "พระองค์หนึ่ง" และจากการที่ได้เดินทางท่องป่าเขาลำเนาไพร ก็ให้ได้พานพบกับหินก้อนหนึ่ง กลายเป็นเรื่อง... "หินก้อนหนึ่ง" ซึ่งเป็นหินที่มีลักษณะสีสันแบบที่คล้ายคลึงกับพระซุ้มกอองค์นี้ จะว่าเป็นเหตุโดยบังเอิญก็ใช่  หลังจากว่างเว้นจากการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวป่า จึงเกิดแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระซุ้มกอองค์นี้ ซึ่งกระผมได้นำมาถ่ายรูปคู่กับหินก้อนที่ได้พบมาโดยบังเอิญ จนเป็นที่มาของเรื่อง "พระองค์หนึ่งกับหินก้อนหนึ่ง" โดยมีภาพขึ้นต้นของ "พระพุทธสิหิงค์หรือพระสิงห์ พระประธานไห" ซึ่งเป็นพระที่ค้นพบในไหดินเผา กรุวัดพิกุล ไหร่วมกับพระซุ้มกอองค์ที่นำมาเขียนเป็นชื่อเรื่องพระองค์หนึ่งกับหินก้อนหนึ่งและพบมีบรรจุเพียงองค์เดียวในไห จึงเรียกให้เป็น..พระประธานไห
     จึงได้เพียรพยายามค้นหาพระ ภาพพระ...หวังเพียงให้เป็นจุดเริ่มต้นในการนำไปเป็นองค์ประกอบในการสืบค้นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องต่างๆ การสืบแบบแห่งพุทธศิลป์พระซุ้มกอและแบบพระเครื่องเมืองกำแพงเพชรในพิมพ์ต่างๆอันอาจจะหารวบรวมมาได้ หรือการเผยแพร่ให้กว้างขึ้นโดยเฉพาะในการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตแบบโลกไร้พรมแดนในปัจจุบัน เกี่ยวกับแบบพระพิมพ์ที่ไม่เคยปรากฏว่ามีการเขียนพิมพ์มาก่อน การกล่าวพาดพิงที่อาจจะโดยไม่ได้ตั้งใจ ข้อผิดพลาดใดๆ ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

(โดย...ร.ต.อ.อภิชาติ ปัดภัย )



จังหวัดกำแพงเพชร



   กำแพงเพชร...ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนเมืองมาแต่ครั้งโบราณมาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่สมัยขอมโบราณ นานมาแล้ว สืบมาถึงตำนานเรื่องเล่าการอพยพโยกย้ายมาสร้างเมืองในสัมยเชียงแสน ซึ่งแต่ละยุคก็มีชื่อของชุมชนหรือเมืองที่แตกต่างกันออกไป เช่นเมืองชากังราว ในสมัยสุโขทัย  เมืองนครชุม ในสมัยยุคหลังสุโขทัย (อยุธยา) 
     กำแพงเพชร..มีทำเลที่ตั้งอยู่ริมสองฟากฝั่งของแม่น้ำปิง โดยมีต้นกำเนิดแม่น้ำปิง อยู่ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 




กำแพงเมืองกำแพงเพชร

    กำแพงเพชร...เป็นเมืองหน้าด่านกันชนตามทำเลที่ตั้ง มีกำแพงศิลาที่แข็งประดุจเพชร ที่ต้องคอยรับทั้งศึกเหนือศึกใต้อยู่ตลอดมา กระผมเคยได้พบและพูดคุยกับคุณลุง..คนเมืองกำแพงเพชรท่านหนึ่ง ซึ่งท่านได้เล่าให้ฟังว่า เมืองกำแพงเพชรนี้ เคยเป็นชุมชนเมืองมาตั้งแต่ยุคสมัยทวารวดี ดังที่บรรพบุรุษได้เคยบอกและเล่าสืบกันเป็นทอดๆต่อกันมาว่า เคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ "ลำโป๊ะโบยไซ" ในยุคสมัยของขอม คือสมัยอาณาจักรทวารปุระหรืออาณาจักรทวารวดีในปัจจุบัน

ตำนานเมืองโบราณ "เมืองไตรตรึงษ์"

   เล่าเรื่อง...เมืองโบราณ "เมืองไตรตรึงษ์" จากความตามหลักศิลาจารึก หลักที่ ๓๘ ได้กล่าวไว้ว่า "พระเจ้าไชยศิริเชียงแสน" หนีพม่ามาจากเชียงราย และมาสร้างเมืองไตรตรึงษ์ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๕๐๐ สันนิษฐานว่า เป็นสถานที่ตั้งของบ้านวังพระธาตุ ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร ปัจจุบันเป็นพื้นที่แปลงเกษตรของชาวบ้าน แต่ยังคงเหลือซากรากฐานของวัดในยุคโบราณ
 "เมืองไตรตรึงษ์" เป็นที่มาของเรื่องเล่าการกำเนิดของอาณาจักรอยุธยาทวารวดี  ตามตำนานเรื่องเล่า "ท้าวแสนปม" 




ตำนาน ท้าวแสนปม

    เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ ทรงมีพระราชธิดาผู้ทรงพระสิริโฉม (งดงาม) และใกล้ๆเมืองไตรตรึงษ์แห่งนี้ มีชายผู้หนึ่งซึ่งร่างกายเต็มไปด้วยปุ่มปม มาปลูกบ้านอาศัยอยู่ ชาวบ้านเรียกเขาว่า "แสนปม" มีอาชีพทำเกษตรกรรมเพาะปลูกพืชผัก วันหนึ่ง...เทวดาดลใจให้พระราชธิดานึกอยากจะเสวยมะเขือ นางข้าหลวงรับใช้จึงได้ออกไปหามะเขือ และพบมะเขือลูกใหญ่ในสวนของแสนปม  จึงขอซื้อและนำไปทูลเกล้าถวาย หลังจากพระราชธิดาได้เสวยมะเขือแล้ว ไม่นานจึงเกิดตั้งครรภ์ขึ้น 
    เจ้าเมืองไตรตรึงษ์รู้สึกอับอายขายหน้า พยายามสอบถามอย่างไร พระราชธิดาก็ไม่ยอมบอกว่าใครคือบิดาของเด็ก ครั้นเมื่อพระกุมารเจริญพระชันษาพอรู้ความ เจ้าเมืองไตรตรึงษ์จึงให้ประกาศแก่เหล่าขุนนางและราษฎรทั้งหลาย ให้นำของกิน เข้ามาในวัง ซึ่งหากพระกุมารยอมกินของผู้ใด ผู้นั้นจะได้เป็นเขยหลวง เหล่าบรรดาชายหนุ่มทั้งเมืองจึงได้พากันมาร่วมเสี่ยงทายเพื่อการนี้ แต่พระกุมารไม่ได้คลานไปหาผู้ใดหรือกินของผู้ใดเลย 
    เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ จึงให้ทหารไปตามแสนปม ตามความแจ้งของเสนาว่ายังเหลือชายผู้หนึ่ง คือ แสนปม ที่มีเคหาสน์อยู่ชานเมือง และยังมิได้เข้ามาร่วมเสี่ยงทาย แสนปม..จึงมาเข้าเฝ้าพร้อมกับถือข้าวเย็นมาด้วยหนึ่งก้อน เมื่อมาถึงจึงได้อธิษฐานแล้วยื่นข้าวเย็นให้พระราชกุมาร พระราชกุมารจึงคลานเข้ามาหา เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ทรงกริ้ว ที่พระราชธิดาไปได้กับคนชั้นไพร่อัปลักษณ์ จึงขับไล่ออกจากวัง 
   แสนปมจึงได้พาพระราชธิดา พระราชโอรส ไปหาสถานที่อยู่ใหม่ ความร้อนถึงพระอินทร์จำต้องแปลงเป็นลิง นำกลองวิเศษมามอบให้ กลองนี้อยากได้อะไรก็ให้ตีเอา แล้วอธิษฐานได้เป็นสารพัดนึก แสนปมจึงได้ลองอธิษฐาน ให้ปุ่มปมตามตัวหายไป แล้วจึงตีกลองวิเศษ ร่างจึงกลับเป็นชายรูปงาม จึงตีกลองขอบ้านเมืองขึ้นมาเมืองหนึ่ง ให้ชื่อว่า "เมืองเทพนคร"  แล้วจึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นเจ้าเมือง นามว่า "ท้าวแสนปม" 
   "ท้าวแสนปม" ปกครองประชาชนไพร่ฟ้าด้วยความสงบสุขร่มเย็น และได้นำทองคำมาทำเป็นอู่นอนให้พระราชโอรส  แล้วตั้งชื่อพระราชโอรส ตามอู่ทองคำ..ว่า "อู่ทอง" ต่อมาได้เป็นกษัตริย์ และย้ายเมืองมาสร้างเป็นกรุงศรีอยุธยา กลายเป็นราชวงศ์อู่ทองตามตำนานท้าวแสนปม 
    ถ้าตามตำนานเรื่องเล่า ย่อมมีนัยย์แสดงว่า.. "เมืองไตรตรึงษ์" มีมาแต่โบราณ ก่อนการตั้งกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา




เล่าเรื่อง..คนขุดพระ...เมืองกำแพงเพชร

เกริ่นนำ..พบปะคุณลุง คนเมืองกำแพงเพชร

   จากการที่เคยได้พบปะพูดคุยกับคุณลุงท่านหนึ่ง ปัจจุบันท่านอายุอยู่ในวัยย่าง ๗๐ ปีแล้ว (ปัจจุบัน ปี  ๒๕๖๑) ได้กรุณาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า...... 
    คุณลุงเอง....เป็นคนเมืองกำแพงเพชรโดยกำเนิด เติบโตมากับซากปรักหักพังของวัดวา คือพูดง่ายๆ โตมาพอรู้ความก็เห็นวัด เห็นเจดีย์เก่า ซากปรักหักพัง กองอยู่เต็มไปหมดแล้ว มีวัดเยอะมาก..วัดไหนไม่มีพระมาอยู่จำพรรษา สถานที่นั้นก็จะเต็มและรกครึ้มถูกปกคลุมไปด้วยพืชพันธุ์ไม้ป่า หญ้าหรือวัชพืช วัดไหนที่มีสภาพได้รับการพัฒนาหรือฟื้นฟู ก็แสดงว่ามีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาและมีการพัฒนาสถานที่แล้ว  
  ย้อนกลับหลังไปเมื่อครั้งคุณลุงยังอยู่ในวัยเด็ก  ได้เล่าให้กระผมฟังว่า..ครอบครัวคุณลุงเอง พ่อแม่ได้ปลูกบ้านอยู่ในพื้นที่ ที่คุณลุงแกใช้คำพูดว่า "ปลูกบ้านอยู่ในป่า" ซึ่งเต็มไปด้วยป่าที่ขึ้นแซมสอดแทรกพื้นที่ด้วยซากปรักหักพังของวัดเก่าแก่โบร่ำโบราณ ปัจจุบันอยู่ใกล้ๆแถวเขตอุทยานประวัติศาสตร์ เขตนอกกำแพงเมือง ฐานะทางครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงวัว ควาย พอคุณลุงอายุได้ประมาณสัก ๑๑-๑๒ ปี จึงได้รับมอบหมายจากทางครอบครัวให้เป็นผู้นำพาฝูง วัว ควาย ไปเลี้ยง (พาไปกินหญ้า) ซึ่งก็คือแถวๆบริเวณลานทุ่งเศรษฐี แถวๆวัดพิกุลนั่นเอง  ด้วยบริเวณนี้มีหญ้าอ่อนระบัดขึ้นอยู่เต็มไปหมด น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมขัง ซึ่งคุณลุงได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนบริเวณลานทุ่งเศรษฐีแห่งนี้ ชาวบ้านพากันเรียกว่า "นาทะเล" เพราะด้วยเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง จวบจนกระทั่งเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ได้เปิดใช้ พื้นที่จึงไม่มีน้ำท่วมขัง หมดสภาพของนาทะเล กลายเป็นพื้นที่บก และกลายเป็นบ้านเรือนผู้คนจวบจนถึงทุกวันนี้


ต้นตะแบกพูดได้....

  คุณลุงเองได้เล่าให้ผมฟังว่า....เมื่อครั้งหนึ่ง ตอนเป็นเด็ก ได้พาฝูงวัวควายไปหากินหญ้า บริเวณแถวๆซากปรักหักพังเก่า สวนตัวคุณลุงเอง หลังจากได้ปล่อยวัวควายให้เที่ยวหากินหญ้าละแวกแถวนั้นแล้ว ตนเองจึงได้เดินผละไปเพื่อจะไปหาที่ปลดทุกข์ เห็นแนวกลุ่มต้นไม้สูงใหญ่ขึ้นอยู่ ลักษณะเปลือกระเทาะร่อนแตกลาย รอบๆบริเวณเป็นซากเจดีย์โบราณและซากปรักหักพังเก่า ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อ..กรุวัดตะแบกลาย 
     ขณะที่คุณลุงกำลังจะปลดทุกข์อยู่นั้น พลันเสียงตะโกนดังออกมาจากต้นตะแบก "มึงจะมาทำอะไรแถวนี้...มึงจะมาเอาอะไรอีกกกๆๆๆๆๆ" คุณลุงแกบอกผมว่า ตอนนั้นสะดุ้งตกใจมาก จึงมองหาที่มาของเสียง พลางนึกในใจว่า ใคร...แอบอยู่หลังต้นไม้ (ต้นตะแบก)นั้น จึงได้เดินอ้อมสำรวจดู แต่ก็ไม่พบใครเลย  "มึงจะมาเอาอะไรอีกกกๆๆๆๆๆ"  เสียงพูดของคนตะโกนดังลั่นออกมาจากต้นตะแบกต้นนั้นอีกครั้ง คราวนี้ คุณลุง ไม่รีรอท่าอะไรอีกแล้ว รีบจ้ำอ้าวไปหาฝูงวัวฝูงควาย นำพาออกจากที่แห่งนั้นทันที

พระซุ้มกอขาว กรุ..ไห วัดตะแบกลาย อายุประมาณกว่า ๗๐๐ ปี มวลเนื้อแกร่งหิน (องค์พระทำปฏิกิริยากับแม่เหล็ก)


ร่อง..เม็ดแร่



  พระซุ้มกอส้ม กรุ..ไห วัดตะแบกลาย อายุประมาณกว่า ๗๐๐ ปี มวลเนื้อแกร่งหิน ด้านหลัง วงเม็ดแร่ ๒ ชั้น


(ด้านหลัง)




 พระซุ้มกอขาว กรุไห..วัดพระบรมธาตุนครชุม



พระธาตุเสด็จ....


   วัดพระบรมธาตุนครชุม ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร


 ยามพระอาทิตย์ส่องแสงสะท้อนอัญมณี ยอดพระบรมธาตุ...




"ปรากฏการณ์อันน่าอัศจรรย์คืนวันเพ็ญเดือน ๓...." 


    คุณลุง..ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่าเกิดขึ้นมานานแต่ครั้งโบราณแล้ว ตั้งแต่ลุงยังไม่ได้เกิด จนจำได้ว่าตั้งแต่สมัยคุณลุงยังเป็นเด็ก จึงได้รู้ว่าปรากฏการณ์แสงไฟขาวนวล ดวงกลมขนาดใหญ่กว่าลูกมะพร้าวพันธุ์พื้นบ้านหน่อยๆ  ซึ่งชาวบ้านละแวกถิ่นแถวนั้นเรียกว่า "พระธาตุเสด็จ" จะเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน และเกิดก่อนเที่ยงคืนของทุกๆคืนวันเพ็ญเดือน ๓  คุณลุง..บอกว่าปรากฏการณ์แสงไฟขาวนวลสว่างจ้า หรือพระธาตุเสด็จนั้น จะเริ่มปรากฏเป็นรูปดวงไฟขาว สีกลมนวล พุ่งลอยตรงขึ้นจากพระธาตุเจดีย์ที่วัดวังพระธาตุ ต.ปากดงฯ จากนั้น จะลอยมุ่งตรงด้วยความรวดเร็วและสม่ำเสมอไปยังพระธาตุเจดีย์ใหญ่ วัดพระบรมธาตุ และลอยต่อไปยังพระธาตุเจดีย์ วัดพิกุล 
   คุณลุง..บอกว่า สมัยนั้นแสงสว่างมาจาก "โคมตะเกียง" เป็นหลัก ไม่มีแสงไฟหรือแสงสว่างจากไฟฟ้าให้เคืองตามากเหมือนในสมัยปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นจึงเห็นรัศมีดวงไฟพระธาตุเสด็จได้สว่าง ชัดเจนมากและมองเห็นได้แต่ระยะไกล
    พระธาตุเสด็จจะใช้เวลาประทับอยู่ในแต่ละสถานที่ เป็นระยะเวลานานเท่าใดไม่แน่นอน ก่อนจะปรากฏครั้งสุดท้าย ด้วยการพุ่งลอยขึ้นจากพระธาตุเจดีย์ของวัดพิกุล แล้วแตกออกคล้ายพุไฟในสมัยนี้ ....ลอยพุ่งขึ้นแล้วแตกแยกออกเป็นวงเล็กหลายๆวง กระจัดกระจาย แล้วลอยแยกหายไปในแต่ละทิศทาง  ซึ่งคุณลุงบอกว่า......ท่านแยกกันลอยกลับไปยังบริเวณวัดวังพระธาตุ สถานที่อันเป็นจุดเริ่มต้นเดิมนั้นแหละ 
    ปรากฏการณ์แสงไฟขาวนวลสว่างจ้า หรือพระธาตุเสด็จนั้น ชาวบ้านพบเห็นจนชิน ถือเป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อถึงคืนวันของวันเพ็ญเดือน ๓  ของแต่ละปี ชาวบ้านจะเตรียมตัวกันด้วยความดีใจ ด้วยการนำสาดเสื่อมาปูนั่งรอ บริเวณลานหน้าบ้านใครหน้าบ้านมัน หรือแล้วแต่สถานที่อันจะสะดวก เพื่อมานั่งรอกราบไหว้... มีการเตรียมขายของกิน ของเล่น ขนม ของขายต่างๆ เสมือนมีการจัดงานประจำปี หรืองานเฉลิมฉลองกัน พาให้คุณลุงในวัยเด็กสมัยนั้นและเด็กๆ หรือพวกชาวบ้าน ต่างมีความสนุกสนานปนตื่นเต้น ดุจได้เที่ยวงานประจำปีไปโดยปริยาย....
   เสียงปืน เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงสัญญานต่างๆ ที่ดังกึกก้องไปทั่ว ประดุจเสียงที่ใช้แทนการบูชาดวงพระธาตุ ตามจุดต่างๆ สถานที่หรือบ้าน..ซึ่งพระธาตุเสด็จเคลื่อนผ่านตรงจุดนั้นหรือจากจุดที่ผู้คนสามารถมองเห็นพระธาตุเสด็จได้

   จวบจนกระทั่งคุณลุง...เมื่อตอนอายุได้ย่างเข้าสู่วัยกลางคนหรือราวประมาณปี ๒๕๒...กว่าๆ ความเจริญหรือการพัฒนาด้วยสิ่งปลูกสร้าง อาคารตึกสูงต่างๆ ผู้คน นักธุรกิจแปลกหน้า หรือชาวบ้านได้เข้ารุกเข้าไปและมีการก่อสร้างทับถมบริเวณสถานที่อันเคยเกิดปรากฏการณ์พระธาตุเสด็จ  ปรากฏการณ์พระธาตุเสด็จ....จึงไม่ได้เกิดหรือปรากฏให้ได้เห็นกันอีกเลย....จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ 
  

วัยซน....

   คุณลุง...ในยามวัยเด็กแบบวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่มีความคึกคะนอง อยากรู้อยากเห็น และตามแบบประสาของคนมีหมู่เพื่อนฝูง เริ่มตั้งแต่เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๕๑...กว่า คุณลุง..จึงได้ตามหมู่เพื่อนๆ ไปเล่นซนตามวัดเก่าหรือตามซากเจดีย์เก่า แถวๆลานทุ่งเศรษฐีและในเขตทั่วๆไปของเมืองกำแพงเพชร ซึ่งมีแต่วัดเก่าแก่ ที่ชำรุดทรุดโทรมและร้างพระมาอยู่จำพรรษา 




   ครั้งหนึ่ง..เมื่อชวนพากันไปเล่นแถวๆบริเวณที่เต็มไปด้วยเจดีย์เก่า   ซึ่ง..บ้างเป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐ บ้างเป็นเจดีย์ก่อด้วยศิลา บ้างปูพื้นด้วยศิลาและก่อด้วยอิฐ ซึ่งมีพระเจดีย์ซึ่งมีความเก่าแก่ บางองค์มีรอยปริแยกร้าว บางองค์ยอดหักร่วงลง พระเจดีย์บางองค์มีรากไม้ใหญ่แผ่รากเสียดเบียดแทงปกคลุมตั้งแต่ส่วนยอดลงมา ด้วยความอยากรู้อยากเห็น จึงพากันลองใช้เหล็กท่อนกระทุ้งเพื่อจะดูข้างใน ว่าข้างในมีอะไร คุณลุงบอกว่า..ทันทีที่ได้กระทุ้งพระเจดีย์ ก้อนอิฐจึงได้ปริแยกแตกร้าวออก หักหล่นร่วงลงสู่พื้นดิน ตามด้วยพระเนื้อดินองค์เล็กๆ ร่วงลงตามไปเป็นกอง ซึ่งคุณลุงบอกว่า พระพิมพ์เนื้อดินเผาองค์เล็กๆ ข้างในน่าจะมีปริมาณมากและวางกองอยู่ตามด้านข้าง ด้านในขององค์พระเจดีย์ เมื่อกระทุ้งด้านข้างตรงไหน พระเล็กๆก็จะหล่นร่วงลงมาพร้อมกับเศษอิฐ เศษศิลา เศษปูน 
    คุณลุงบอกว่า..ตอนนั้นไม่รู้ว่าเป็นพระอะไร รู้แต่ว่า เป็นพระนั่ง..เนื้อดิน องค์เล็กๆ และก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก รู้แต่ว่า มีเยอะมากๆ  จนกระทั่งมารู้และย้อนนึกถึงได้เมื่อตอนคนนิยมเล่นหากัน ..ว่านั้นคือ พระซุ้มกอ....นั่นเอง


ขุดพระ....

    เมื่อปรากฏและได้ข่าวว่า มีคนพบพระชนิดที่หล่อด้วยเนื้อโลหะอันมีค่า เช่นพระทองคำ พระโลหะสำริด  พระพุทธรูปองค์ใหญ่และของโบราณเก่าแก่ โดยสามารถขายได้และมีราคาดีพอสมควร   ความโลภ...จึงปรากฏขึ้น คุณลุงจึงพลางนึกในใจว่า...."ดีกว่าเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย" 
    สมัยก่อน คุณลุง..บอกว่า พระพิมพ์เนื้อดินหรือพระองค์เล็กๆมักไม่ค่อยมีใครสนใจ พอพบเจอหรือขุดได้ มักจะวางกองหรือละทิ้งไว้ โดยไม่สนใจหรือนำมาปล่อยให้เช่าบูชา ด้วยเห็นว่าเป็นเนื้อดินเผาธรรมดาๆ แถมขนาดองค์พระยังเล็ก น่าจะไม่มีค่าราคาที่อาจตีได้ พระเหล่านั้น..โดยเฉพาะพระพิมพ์ซุ้มกอ จึงเสื่อมสลายและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก 
    ค่ำคืนวันหนึ่ง... ราตรีสลัวๆ  ด้วยการรวมตัวกอปรกับการชักนำโดยหมู่เพื่อนฝูง แสงไฟจากเปลวเทียน ตั้งสว่างพอให้มีแสงและพอมองเห็นได้ในความมืด กลางโบสถ์วัดร้างเก่าแก่แห่งหนึ่ง ซึ่งละแวกวัดเต็มไปด้วยป่าพงและทางเดินที่รกร้าง  "ณ ตรงจุดที่สายพระเนตรของพระประธานประจำโบสถ์ทอดประทะกับพื้นตรงจุดไหน ตรงนั้นแหละคือ...กรุพระ" คุณลุงเล่าเรื่องเมื่อครั้งในอดีตให้ผู้เขียนฟัง คุณลุงบอกว่าประสบการณ์ในการขุดค้นหาพระหรือของเก่าโบราณ แรกๆก็พากันขุดแบบเดาสุ่มหาจากใต้ฐานพระประธานหรือฐานชุกชี แกบอกว่าจะไม่เจอของหรอก เผอิญ..ครั้งหนึ่งได้พบเห็นอิฐยุบตัวตรงกลางพระอุโบสถหรือกลางโบสถ์ จึงได้ลองขุดงัดดู จึงได้พบกรุพระและของเก่ามีค่าฝังอยู่ตรงนั้น เมื่อคาดคะเนระยะดูแล้ว ตรงกับสายพระเนตรของพระประธานทอดมาตกกระทบพอดี..นั่นคือที่ฝัง...หรือกรุ    และเมื่อได้ของมาแล้ว คุณลุงบอกว่า..บางที่มีทั้งพระทองคำ พระเงิน พระสำริดองค์ใหญ่ เมื่อพบเจอจึงได้นำไปบรรทุกใส่รถ..คุณลุงเรียกรถว่า...รถต้อกๆหรือเกษตรยนต์แบบใช้มือหมุนติดเครื่องยนต์ บรรทุกนำไปเก็บ จากนั้นจึงนำไปขายแล้วจัดการแบ่งส่วนรายได้กัน...


เผชิญอาถรรพ์ ว่ายบก....

   กระผม..ผู้เขียน จึงได้ถามคุณลุงว่า.. "แล้วคุณลุงไม่กลัวเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือชาวบ้านคนอื่นๆมาเห็นเหรอครับ" คุณลุงบอกว่า..สมัยนั้น..ไม่มีใครสนใจเรื่องนี้หรอก เพราะด้วยความเกรงกลัวในหลายๆสิ่งที่มองไม่เห็น ทั้งภูตผี เจ้าที่เจ้าทาง ...ความมืด ด้วยแสงสว่างจากไฟฟ้าไม่มี มีแต่แสงจากโคมไฟตะเกียงของบ้านเรือนชาวบ้าน ซึ่งพอพากันเข้าหลับนอนแล้ว ก็มีแต่ความมืดเท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ค่อยได้ออกตรวจตรากันหรอก
  
     ณ กลางลานอุโบสถ์หรือกลางลานโบสถ์ของวัดร้างแห่งหนึ่ง ค่ำคืนที่พอมองเห็นได้สลัวๆจากแสงไฟของเปลวเทียน คุณลุงและเหล่าเพื่อนๆ จึงได้แบ่งหน้าที่กันและลงมือขุดค้นหาดังเช่นเคย ครั้งหนึ่ง...คุณลุงบอกว่า..ไม่เคยลืมเลือนเลย เมื่อพากันขุดลงไป พบของ...แต่ไม่ทันได้ของ ปรากฏ...พลัน...!! ไอ้สน...คนลงมือขุด ได้ทิ้งอุปกรณ์การขุด ปล่อยให้หลุดมือแบบอาการของคนตกใจ และโดดล้มกลิ้งลงนอนคว่ำ ทำกิริยาแขนทั้งสองข้างยื่นเหยียดตรงออกไป มือทำท่ากวักวักขุดพื้นดังฉึกๆ สองเท้าเหยียดตรงยกสลับตีพื้นดังโปะๆ ดุจดังกำลังทำท่า...ว่ายน้ำ ปากตะโกนร้องให้ช่วย ร่างเคลื่อนคลานเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ทีละนิดๆ พอเพื่อนคนอื่นเห็น จึงพากันแปลกในอาการและพากันตกใจ แต่ก็พลางนึกว่า เพื่อนคนนั้น...ไอ้สนคงอำกันเล่น 
    ขณะที่กำลังก้มตั้งหน้าตั้งตาขุดอยู่นั่นเอง ไอ้สน..มันบอกในภายหลัง ตอนฟื้นคืนสติหายกลับคืนมาได้ มันบอกว่า ขณะที่กำลังขุด พลัน...หูก็ได้ยินเสียงดังสนั่นด้านประตูทางเข้าพระอุโบสถ์ จึงได้หันกลับไปมอง  ฉับพลัน..!!! ก็มองเห็น สายน้ำป่า...ไหลทะลัก เสียงดังสนั่น สีเหลืองขุ่นข้น ไหลทะลักเข้ามาทางประตูพระอุโบสถ ด้วยความรุนเรงและด้วยความกลัวว่าจะจมน้ำ จึงต้องทิ้งอุปกรณ์และโดดว่ายพยุงตัว โดยที่ไม่สามารรับรู้อะไรได้อีก นับแต่วินาทีนั้น

    คุณลุงเล่าเรื่องที่ประสบพบเจอมาในครั้งนั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกของการเผชิญสิ่งลึกลับจาการขุดพระหรือขุดหาของเก่า คุณลุงบอกว่า...น้ำป่า...ไอ้สนมันว่ายบก ซึ่งคุณลุงเอง แกบอกว่า แกเองก็มองไม่เห็นและตอนนั้นไม่รู้หรอก มารู้เอาทีหลังตอนเพื่อน...ไอ้สน...มันบอก ตอนนั้นแกรู้แต่เพียงว่าจู่ๆไอ้สนก็ทิ้งอุปกรณ์และทำท่าอย่างนั้น
   
   นาน..ประมาณหลายวินาที ที่เพื่อนทำปฏิกิริยาอาการอย่างนั้น คุณลุง..จึงได้จับขาเพื่อนแล้วลากกลับมา พลางเขย่าตะโกนเรียก..."ไอ้สน ไอ้สน.. มึงเป็นไรวะ " เรียก..อยู่อย่างนั้น เพื่อนคนอื่นๆก็ช่วยตะโกนและจับเขย่าร่าง เรียก "ไอ้สน  ไอ้สน " เพื่อนคนซึ่งกำลังอยู่ในกิริยาหรืออาการที่ไม่สามารรับรู้อะไรได้ นอกจากภาพมายาที่ตนเองมองเห็นเพียงคนเดียวตอนนี้ ช่วยกันจับแข้งจับขา เขย่าเรียกไอ้สน...ปลุก...จนได้สติฟื้นคืนลับมา ด้วยอาการหอบ เหนื่อย อ่อนเพลีย เสียงลมหายใจที่ดังถี่รัว ปากพลางพยายามที่จะร้องให้ดังๆแต่ก็แผ่วเบาแบบหมดแรง...." น้ำ น้ำ น้ำป่า.." เพื่อนบอกว่า น้ำที่ไหน ไม่เห็นมี..แต่...ปากไอ้สนก็ยังเพ้อพูดคำว่า...น้ำ น้ำ ..อยู่อย่างนั้น  

     ตกลง...คืนนั้นจึงได้พากันประคองร่าง พยุงไอ้สนกลับ ล้มเลิกการขุด พากันกลับโดยไม่ได้อะไรเลย.....คุณลุงบอกว่า..."ไอ้สนมันว่ายบกมันเป็นอาถรรพ์ เขาไม่ให้"  และเมื่อพาไอ้สนไปถึงบ้าน อาการพร่ำเพ้อคำว่า น้ำ น้ำ น้ำป่า ยังไม่หาย ตกลงในวันรุ่งขึ้นจึงได้พากันพยุงร่างไอ้สนกลับไปทำพิธีขอขมาลาโทษเจ้าที่เจ้าทาง อาการไอ้สน จึงค่อยดีวันดีคืนและหายเป็นปกติในที่สุด


สมบัติไหล.... ผึ้งอารักษ์....

   ด้วยอำนาจแห่งความโลภ การขุดหาพระและของเก่าแก่โบราณ หมู่ผองเพื่อนและคุณลุง.. ยังทำการออกลักลอบขุดอีก แม้จะมีความเกรงกลัวในเจ้าที่เจ้าทางอยู่บ้าง แต่พอเงินขาดมือ หรือมีใบสั่งจากผู้ที่ต้องการ กอปรกับคำรบเร้าจากพวกเพื่อนๆ จึงต้องพากันไปขุดกรุพระอีก
    คุณลุงบอกว่า..ส่วนใหญ่จะเริ่มขุดกันประมาณช่วงหลังเที่ยงคืนถึงเวลาประมาณตีสี่ เนื่องจากเป็นฤกษ์ยามที่ปลอดผู้คน สะดวกแก่การลงมือ คืนวันหนึ่ง เที่ยงคืนกว่าๆ ตรงลานในพระอุโบสถเหมือนเช่นเคย ไอ้จักร...มือทำหน้าที่ขุดแทนไอ้สน เนื่องจากไอ้สนยังมีความเข็ดขยาดจากการว่ายบกมาแล้ว คราวนี้จึงขอทำหน้าที่อื่น ขอเป็นมือส่องสว่างดีกว่า
    ฉึก ฉึก ฉึก...ทั้งขุด ทั้งงัดด้วยท่อนชะแลงเหล็ก ขุดลึกลงไปได้ประมาณน่าจะเกือบสามศอก..คุณลุงเอ่ยบอกเพื่อนๆ "คงใกล้แล้วว่ะ ใกล้เจอแล้ว พบเศษปูนที่โบกทับกระเทาะแล้ว"   พลัน..! ก็ต้องพากันตกใจ กึ่งแปลกใจ ด้วยเสียงอันดังยังพื้นทิศทางเบื้องล่าง ที่ทำการขุด ครืนๆ คราดๆ เสียงแผ่นดินสะเทือนดังสนั่นอยู่เบื้องล่าง "แผ่นดินไหล แผ่นดินไหล มันเลื่อน ดินมันเลื่อน..." คุณลุงตะโกนปนสำทับกับเสียงร้องอุทานตกใจของเพื่อนๆ ซึ่งทุกคนก็รับรู้โดยไม่ต้องบอกกันแล้ว สมบัติ...มันไหลหนีไป....ขืนขุดต่อไปก็ไม่เจออะไรแน่ๆ  ไอ้สน...ด้วยความฝังใจจากการว่ายบกในคราวนั้น ตัวเริ่มสั่นเทาด้วยความกลัวเข้ามาจับจิตจับใจอีกแล้ว "กลับ กลับ กลับ คราวนี้ไม่รู้จะเจออะไรอีก ปู่โสมเขาไม่ให้.." ไอ้สนบอก ตกลง..พากันมองหน้าตากันอย่างเลิกลัก พลางพยักหน้ารับคำบอกของไอ้สน พากันเก็บอุปกรณ์ ตกลงกลับกันแบบคืนนี้ไม่ได้อะไรเลย....
   หลังจากพากันกลับ ก็ได้นัดพบปะกันเพื่อหารือ..หาสถานที่ในการขุดครั้งใหม่อีก เนื่องจากในใจถึงแม้จะกลัว แต่ก็ต้องทำ เพราะยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ยังต้องการใช้เงินเที่ยวเตร็ดแตร่อยู่ กอปรกับเป็นการแสดงความกล้าหาญ อวดเก่งแบบนิสัยวัยรุ่น ซึ่งใครที่เก่ง กล้ากว่ากัน ก็ต้องเป็นที่ยอมรับจากพรรคพวกเพื่อนฝูง รวมทั้งเพศตรงข้าม....เป็นปกติความคิดของผู้ที่อยู่ในช่วงวัยอายุสิบกว่าๆ..
    คืนหนึ่ง..เช่นเคย หลังจากลงมือขุดอีกครั้ง โดย...ไอ้จักร ผู้ซึ่งรูปร่างค่อนข้างโตใหญ่ น่าจะแรงดีกว่าเพื่อนๆ ในเวลานี้ เนื่องจากไอ้สน ขอสละสิทธิ์การขุดในทุกครั้งไปแล้ว  คุณลุง..ก็ได้ช่วยส่องแสงสว่างจากเปลวเทียน ช่วยส่องสว่างให้ไอ้จักร  "ปูน ปูน เจอปูนแล้ว" คุณลุงบอก ขุดดินออกเปิดพอให้มองเห็นก่อน ว่าใช่ไหม คราวนี้โชคเหมือนจะเข้าข้าง พากันดีอกดีใจ พอใจชื้นขึ้นมาหน่อยละ หลังจากขุดดินออก ก็พบผนังปูนที่ตั้งฉากอยู่เบื้องหน้า ในหลุมขุด  จึงได้ทำการขุดดินออกให้กว้าง พอลงไปนั่งได้ จึงใช้ชะแลงงัดกระทุ้งเปิดให้เห็นด้านใน "พระ พระ องค์ใหญ่งาม หน้าตักสักศอกเห็นจะได้" ไอ้จักร...บอกเพื่อนๆที่อยู่รอข้างบน สามสหายพากันดีอกดีใจ พลางนึกถึงเงินก้อนใหญ่อีกครั้ง สบายกันแน่พวกเรา..คราวนี้ คุณลุงพลางนึกในใจ 
    เวลายามสองกว่าๆ ทำการขุดมานานพอสมควร..ไอ้จักร..มือขุด เมื่อทำการเปิดผนัังกรุได้แล้ว จึงขอเทียนส่องสว่างจากเพื่อนข้างบน แสงสว่างจากเปลวเทียนส่องให้เห็นวัตถุที่ตั้งอยู่ภายใน พลางเอื้อมมือเข้าไปปัดดินกรุ และส่องสว่างขึ้นไปเพื่อจะคาดคะเนความสูงและขนาดขององค์พระ ทันที..ที่แสงจากเปลวเทียนส่องมองเห็นด้านบนองค์พระ....ไอ้สน..เป็นต้องตกตะลึง...หยุดนิ่ง ไม่ขยับตัวอยู่อยู่พักหนึ่ง คุณลุง..ซึ่งรออยู่ด้านบน เป็นประหลาดใจ ในอาการของไอ้จักรในขณะนั้น พลางเรียกถามไอ้จักรว่า..มีไรจักร เอ็งเห็นอะไร ไอ้จักร เงียบ ไม่ตอบ พลางค่อยๆขยับถอย ดับเปลวเทียนโดยบี้ติดกับพื้นดิน แล้วค่อยๆปีนขึ้นไปข้างบน
 "กลับ กลับ พวกเรา.." ไอ้จักร ชวนเพื่อนๆกลับ คุณลุงและไอ้สน พร้อมใจกันถามไอ้จักร ขึ้นมาในทันที "กลับทำไมวะ เจอของแล้วนิ " ไอ้จักรจึงบอกตอบ "เจอของก็เอาไปไม่ได้ ไม่มีใครเอาไปได้ โชคดีของพวกเรา ไม่งั้นเจอของจริง พากันตายหมดแน่ๆ  มันคือรังผึ้งโพรง ตัวเบ้อเริ่ม...โดนเข้าไปสักสองสามตัวเห็นทีจะไม่รอด ดีที่มันเป็นกลางคืน ยังไม่แตกรังซะก่อน แต่ก็เห็นแม่มันเริ่มขยับกันแล้วละ ดีที่ข้าดับไฟทัน"     ขึ้นชื่อว่าผึ้งโพรง โดยเฉพาะผึ้งใต้ดิน ชื่อชั้นในความดุไม่เป็นรองต่อหลุมเลย คนบ้านป่าจะพากันเกรงกลัวมาก ด้วยจำนวนและพิษของมัน เพียงแค่สองสามตัว คนที่แพ้ถึงกับหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิตจะคุมไม่อยู่ หายใจไม่ออก ถึงตายได้ ยิ่งสมัยก่อน การปฐมพยาบาล ยา โรงหมอ ไม่ใช่เหมือนในสมัยนี้ 
   "ตอนแรกข้ามองไม่เห็นหรอก แต่ทันทีที่แสงจากเปลวเทียน ส่องกระทบเห็นอะไรเป็นมันวาวอยู่ด้านบน ก็รู้ว่าเป็นผึ้งทันที  มันเกาะย้อยกันลงมาเป็นสาย เกาะถึงเกศพระพอดิบพอดี ขืนขยับองค์พระ  สายตัวผึ้งเป็นต้องขาดช่วงติดเกศพระมาส่วนหนึ่ง พากันแตกรังกัน หนีไม่ทันแน่ๆ "  ไอ้จักรบอกเพื่อนๆ ในขณะพากำลังพากันกลับ ...อีกครั้งที่ไม่ได้อะไรเลย  คุณลุง....บอกกระผม...ผู้เขียนว่า "ผึ้งอารักษ์ ปกปักษ์รักษาของ" ตัวรังใหญ่น่าจะอยู่ถึงโพรงฐานพระประธานนู่น....


ยุติอาชีพขุดพระ...

    คุณลุง....บอกผมว่า หลังจากนั้นไม่นาน ราวๆปี พ.ศ.๒๕๐๙  ทางกรมศิลป์ ได้เข้ามา...คุณลุงเองและเพื่อนๆจึงได้ยุติการลักลอบขุด ต่างพากันหันไปประกอบอาชีพอื่นอันสุจริต เหลือไว้แต่เรื่องราวแต่หนหลังที่ได้มาบอกเล่าให้ผมฟัง ซึ่งคุณลุงได้บอกผมว่า คนขุดพระไม่มีใครรวยซักคน ไม่มีความเจริญรุ่งเรือง ตัวของคุณลุงเองก็เจ็บป่วย เดินเหินไม่ได้เหมือนคนปกติทั่วไป ตั้งแต่ครั้งที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนจนเกือบจะคร่าชีวิตของตนเองไปแล้ว การดำเนินชีวิตมีแต่เรื่องอาถรรพ์ เพื่อนบางคนก็ได้ล้มหายตายจากไปแล้ว 
    เมื่อเผอิญพบๆได้พบกับคุณลุง คุณลุงจึงยินดีที่จะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ พระกรุต่างๆในเมืองกำแพงเพชรและเป็นโชคดีที่ได้พบเห็นพระพิมพ์ซุ้มกอ ในสภาพผิวเดิมๆอีกหลายองค์ จึงขอรวบรวมเน้นเอาเฉพาะ พระซุ้มกอ...มาเขียน มาเล่า จุดต่อยอดกระบวนการทางการศึกษา และเพื่อให้สืบต่อการเล่าเรื่อง การเผยแพร่พระพิมพ์ใหม่ๆ ที่อาจจะไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่กันมาก่อน ตามหัวเรื่องเริ่มต้น.."พระองค์หนึ่งกับหินก้อนหนึ่ง"



เล่าเรื่อง..พระซุ้มกอ...เมืองกำแพงเพชร

"พระซุ้มกอ กรุวัดพิกุล องค์ที่งดงามที่สุดองค์หนี่ง"

พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีกนก กรุฤษี มวลเนื้อละลาย สลายรวมกัน




    อีกบทหนึ่งของตำนานแห่งพระเครื่องเมืองไทยและถูกบรรจุให้อยู่ในชุดพระ "เบญจภาคีประเภทเนื้อผงดิน" อันประกอบไปด้วย "สมเด็จวัดระฆัง (กรุงเทพฯ)  พระรอด (ลำพูน)  พระผงสุพรรณ (สุพรรณบุรี)  พระนางพญา (พิษณุโลก) และพระซุ้มกอ (กำแพงเพชร)"
    ด้วยความหลากหลายของกรุพระแห่งเมืองกำแพง ซึ่งคุณลุงบอกว่า มีมากกว่า ๑๓๐ เจดีย์ที่บรรจุกรุพระเครื่อง พระซุ้มกอ...ในสมัยคุณลุงเป็นเด็กอยู่แกบอกว่า พระซุ้มกอมีเยอะมาก สมัยก่อนชาวบ้านจะเรียกว่า "พระนั่ง" ตามรูปแบบการประทับนั่ง มีมากมายวางกองอยู่ข้างในเจดีย์ ล้นออกมานอกเจดีย์ที่ชำรุดปรักหักพังก็มี ชนิดที่บรรจุในไหดินเผาก็มี บนยอดเจดีย์ก็มี แต่ไม่ใคร่มีใครสนใจมากนัก แต่ปัจจุบันกับมีคุณค่าราคาประมาณได้ยาก ถึงกับราคาเป็นล้านถึงหลักสิบล้านก็ยังเคยปรากฏเป็นข่าว.....
    กรุพระซุ้มกอที่เป็นที่นิยม คุณลุงบอกว่ามีหลายกรุมาก แต่ที่รู้จักกันดีเห็นจะมี...กรุวัดพิกุล กรุวัดพระบรมธาตุ กรุฤษี กรุวัดป่ามืด กระตะแบกลาย ...เป็นต้น พระซุ้มกอเป็นพระที่มีหลายพิมพ์ หลายเนื้อหา ด้วยความหลากหลายของพระซุ้มกอ แสดงว่าอาจจะมีการสร้างสืบต่อๆกันมาหลายร้อยปี อาจจะตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์สุโขทัยด้วยซ้ำ แต่ก็ได้ตั้งเอาเกณฑ์อายุตามประวัติศสาตร์ของเมืองสุโขทัย และประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร ยุคหลัง..เป็นหลัก จึงคาดคะเนได้ว่าพระซุ้มกอน่าจะเริ่มสร้างอยู่ในราว ๗๐๐ กว่าปีผ่านมาหรือนานกว่านั้น
    พระซุ้มกอ  คุณลุงบอกว่า ถ้าแยกตามการสะสมเล่นหาในยุคปัจจุบันนี้ สามารถแยกพิมพ์ได้ดังนี้  พิมพ์ใหญ่มีลายกนก พิมพ์ใหญ่ไม่มีลายกนก พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ขนมเปี๊ยะ พิมพ์จิ๋ว หรือพิมพ์คะแนน และพิมพ์พิเศษอื่นๆอีก อันจะกล่าวถึงต่อไป สำหรับพิมพ์จิ๋วหรือพิมพ์คะแนน..นั้น มีไว้สำหรับวางคั่นจำนวนร้อยขององค์พระ เพื่อให้ง่ายต่อการนับจำนวนที่สร้าง โดยจะวางคั่นกลางในจำนวนของทุกๆหลักร้อย..


ไหดินเผา..บรรจุพระซุ้มกอ

 ไห..บรรจุพระชนิดที่อุดปิดทับด้วยดินเหนียว (แบบโบราณ)

(ภาพตัวอย่างประกอบ)



ไห..บรรจุพระชนิดที่อุดปิดทับด้วยปูนขาวโบราณ

                                                (ภาพตัวอย่างประกอบ)

   คุณลุงเล่าให้ฟังว่า ไหบรรจุพระเป็นแบบดินเผา ปิดผนึกด้วยวัสดุจำพวกดินเหนียว ปูนขาว ปูนแข็งคล้ายปูนสมัยนี้แต่กรอบกว่า เพื่อกันมดมาทำรัง กันแมลงมาเจาะ อันจะทำให้องค์พระภายในได้รับความเสียหาย มีหลากหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กสุดราวๆกำปั้นเห็นจะได้...ข้างบนส่วนใหญ่จะฝังทับด้วยพระพิม์ซุ้มกอ....แกบอก มีทั้งที่อุดปิดอัดทับด้วยดินเหนียว ปูนขาว ปูนเทาอมเขียว  และประเภทไหบรรจุพระพระมักจะพบฝังอยู่ในกลางพระเจดีย์ หรือวางเรียงกันเป็นชั้นที่ด้านข้างๆ แซมด้วยองค์พระพุทธรูป วางตั้งเรียงต่อกันด้านข้างๆ  

    ข้างในไห..มักจะบรรจุพระซุ้มกอเป็นหลักโดย..พิมพ์ที่จะพบมากน้อยตามลำดับคือ...

  • ชนิดพิมพ์ใหญ่มีลายกนก 
  • พิมพ์ใหญ่ไม่มีลายกนก 
  • พิมพ์จิ๋ว พิมพ์กลาง และพิมพ์ขนมเปี๊ยะ 
    นอกจากนั้นยังพบพระพิมพ์อื่นๆนอกจากพระซุ้มกอ เป็นพระในจำพวก..พระกำแพงกลีบบัวขนาดต่างๆ  พระอื่นๆเช่น ลีลาเม็ดขนุน พระสังกัจจายน์ มีตั้งแต่จำนวนหนึ่งองค์ถึงประมาณห้าหกองค์  บางไหพบเพียงหนึ่งองค์ และพระพิมพ์ดินเผาพิเศษชนิดอื่นๆอีก เช่นพระนารายณ์ พระคง พระเปิม พระลือ พระรอด พระผงสุพรรณ ซึ่งจะได้กล่าวเล่าต่อไป



สภาวะของพระ....เมื่อนำออกมาจากไหบรรจุ

  เมื่อทำการนำพระออกมาจากไห บางท่านอาจจะเข้าใจว่า "พระจะอ่อนหรือนิ่ม หรืออาจจะละลายสลายหายไปแบบขี้เถ้า" ซึ่งความจริงแล้วเท่าที่คุณลุงเล่ามาและจากการค้นคว้าของกระผมเอง  พระ....ไม่ได้อ่อนนิ่มแต่อย่างใด แต่.....จะมีสีคล้ายพระใหม่หรือดูเหมือนของใหม่ (ยกเว้นในองค์ที่แกร่งเป็นหินไปแล้ว จะมีสภาวะเป็นหินเช่นเดิม) สำหรับองค์ที่ดูคล้ายพระใหม่ หรือคล้ายพระที่เพิ่งพิมพ์เสร็จใหม่ๆ แรกๆผมก็เข้าใจว่า เป็นพระใหม่เพิ่งฝังกรุ แต่เมื่อเก็บไว้ภายใต้สภาพอากาศปกตินานๆ อาจเป็นหลายวัน เป็นเดือนหรือหลายๆเดือน องค์พระจะกลับมีความแข็งขึ้นและดูหนึกนุ่ม อย่างน่าอัศจรรย์ และหรือโดยองค์ที่ผ่านการล้างน้ำมา มวลเนื้อจะเข้มและสวยขึ้น แสดงถึงการทำปฏิกิริยากับอ็อกซิเจนจากบรรยากาศที่อยู่ภายนอกไห หลังจากถูกบรรจุในไหมาเป็นระยะเวลานาน

ข้างใน..ไหบรรจุพระซุ้มกอ..

    ข้างในไหบรรจุพระจะมีทั้งวัสดุใส่เพื่อถ่วงน้ำหนัก หรือไหที่ไม่มีวัสดุรอง มีแต่องค์พระล้วนๆ ซึ่งพอจะแยกได้เป็นชนิดที่ข้างในบรรจุด้วย
  • ดินเหนียว
  • ดินร่วน
  • ดินร่วนปนทราย (ดินกรวด)
  • ขี้เถ้าจากพืชไม้ชนิดต่างๆ 
  • ขี้เถ้าจากไม้ชนิดเดียว
  • ขี้เถ้าจากใบไผ่ (ขี้เถ้าเกล็ด)

ข้างในไห..ที่บรรจุด้วยดินเหนียว...

                                              (ภาพตัวอย่างประกอบ)

ข้างในไห..ที่บรรจุด้วยดินร่วนปนทราย (ดินกรวด)...

 (ภาพตัวอย่างประกอบ)

ข้างในไห..ที่บรรจุด้วยขี้เถ้าจากจากใบไผ่ (ขี้เถ้าเกล็ด)...

 (ภาพตัวอย่างประกอบ)




    ข้างในไหประกอบไปด้วยพระเครื่องและวัสดุที่ใช้ซับแรงกระแทกเพื่อถนอมองค์พระ มีทั้งประเภทดิน..แบบดินเหนียว ดินร่วน ดินร่วนปนทรายหรือผสมหินกรวดก้อนเล็กๆ และประเภทขี้เถ้า .. แบบขี้เถ้าที่เผามาจากพืชไม้ ใบไม้หลายชนิด ขี้เถ้าชนิดนี้จะไม่มีความละเอียด ดูหยาบ  ขี้เถ้าที่เผามาจากพืชหรือไม้ หรือใบไม้ชนิดเดียว จะมีความละเอียดมากกว่าและขี้เถ้าที่เผามาจากใบไผ่ล้วนๆ ขี้เถ้าชนิดนี้ เมื่อเกาะจับที่องค์พระแล้ว จะมีลักษณะเป็นเกล็ดคล้ายๆเกล็ดขนมปัง

   วัสดุที่เป็นประเถทขี้เถ้าจะพบว่ามีแกลบติดมาด้วยเสมอ ส่วนวัสดุประเภทดินเหนียวจะพบเศษก้านไม้ เศษใบไม้ เศษถ่านไม้ ติดปะปนมาด้วยเช่นกัน

                                                 (ภาพตัวอย่างประกอบ)



 (ภาพตัวอย่างประกอบ)




การรักษาเนื้อพระซุ้มกอ..


    พระซุ้มกอ...เท่าที่เคยพบเห็นมา คุณลุง..บอกว่ามีการเคลือบหรือคลุกพระแบบกรรมวิธีโบราณ เพื่อเป็นการรักษาเนื้อพระ โดยพอจำแนกได้คร่าวๆดังนี้

๑.การรักษาเนื้อพระซุ้มกอด้วยวิธีการ "เคลือบ"


    กระผม..ผู้เขียน บังเอิญได้พบกับพระพิมพ์ซุ้มเคลือบองค์นี้ จึงได้นำมาคิด วิเคราะห์ว่าเป็นพระซุ้มกอที่เคลือบด้วยอะไร ด้วยภูมิปัญญาแบบโบราณในยุคนั้น ทำให้พระซุ้มกอมีอะไรๆที่มากกว่าคำว่า "พระเครื่อง" แต่...คือ....."ภูมิปัญญาการสร้างพระประจำถิ่น ที่มีอัตลักษณ์ที่แท้จริง"

พระซุ้มกอ องค์ชุบยางไม้ (ยางมะม่วง)

 
























  เมื่อนำมาคิดวิเคราะห์ จึงพอจะรู้ว่า..เป็นพระซุ้มกอที่เคลือบด้วยยางไม้ดิบ ใส แต่เคลือบด้วยยางต้นอะไร.....จึงได้เริ่มศึกษาที่เศษดินกรุ เศษดินที่บรรจุมากับไห จึงพอจะสันนิษฐานได้ว่า...พระซุ้มกอองค์นี้น่าจะชุบมาจากยาง "ต้นมะม่วง" เพราะพบเศษก้านใบของมะม่วงและเศษใบมะม่วง ติดปะปนมาในดินซึ่งบรรจุในไหพระซุ้มกอ..กรุวัดพิกุลด้วย 
   อนึ่ง...ต้นมะม่วงนี้ มีมาแต่โบราณกาลในครั้นสมัยพุทธกาลแล้วและอีกตำนานศรัทธาอีกบทหนึ่ง เชื่อว่า.."เจ้าชายสิทธัตถะทรงประทับนั่งและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใต้โคนต้นมะม่วง"  และในเรื่องพระมหาชนกชาดกยังได้กล่าวอุปมาสาธกเกี่ยวกับต้นและผลมะม่วงเอาไว้ให้เป็นปริศนาธรรมอยู่ด้วย

       (ตัวอย่าง ยางมะม่วง)




 (องค์ชุบยางไม้ คราบดำ - ยางไม้ชนิดอื่น)


        "ยางไม้" หรือ ยุคปัจจุบันเรียกว่า "ยางรัก"  หรือ "รัก" ในยุคโบรานนิยมนำมาเคลือบภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ทัพพีไม้ ช้อนไม้ ถ้วยจานไม้ ปัจจุบันนิยมเคลือบตะเกียบไม้ด้วย เนื่องจากมีความสวยงาม คงทนที่อุณหภูมิสูง (เกือบ ๒๐๐ องศา) นับเป็นภูมิปัญญาที่มีมาแต่โบราณ สืบทอดสู่การนำมาชุบเคลือบองค์พระเครื่อง โดยเฉพาะพระซุ้มกอ แต่ก็นับว่าต้องมีความพิถีพิถันและมีความรู้ตั้งแต่การเริ่มหายางไม้ การพัก การสะกัด การกรองยางไม้ การเคลือบ (ชั้นเดียวหรือมากกว่า..หลายชั้น) รวมทั้งการชุบแบบหนา การชุบแบบบาง แบบขุ่น แบบใส แล้วนำองค์พระไปเผาด้วยความร้อน ซึ่งอย่างที่กล่าวไว้ ยางไม้ มีความคงทนที่อุณหภูมิสูงถึง ๒๐๐ องศา  ทำให้พระซุ้มกอ องค์ที่เคลือบด้วยยางไม้กรองใส (กรองเอาเศษต่างๆออก) จะมีผิวที่ใสดุจอำพัน สีที่สะท้อนออกมาเกิดจากมวลสารภายในองค์พระแต่ละองค์นั้นๆ เช่น แดงใส ดำใส ม่วงอมดำใส ..หรือเกิดจากสียางไม้เองก็มี....เป็นต้น ส่วนองค์พระ..ที่เคลือบด้วยยางไม้ชนิดที่ไม่ผ่านการกรองใส ผิวองค์พระ..จะให้วรรณะโทนดำหรือโทนเข้ม ตามสียางไม้
        องค์พระ...ที่เคลือบยางไม้แบบใส มีคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้ผิวพระเกิดความแวววาว สวยงาม หรือมีความคงทนต่อการกัดกร่อน น้ำหนักเบาเพราะคุณสมบัติการกลายเป็นหินจากภายนอก แทรกซึมเข้าไปได้ยาก เช่นการแทรกซึมของเซลิก้า (Celica) ซึ่งองค์พระที่ผ่านกรรมวิธีการทำแบบนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีความศรัทธาสูง มีบารมี มีอำนาจ รวมถึงอาจต้องมีฐานะที่สูงชั้นในสังคมด้วย และน่าจะมีการนำไปบรรจุยังพระเจดีย์องค์สำคัญ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เจดีย์ใหญ่ หรือเจดีย์ประธาน..นั่นเอง
        ในสภาพองค์พระที่มีความสวยงามและเคลือบผิวด้วยยางไม้กรองใส มีผิวที่ยังสมบูรณ์  เมื่อนำมาล้างคราบกรุออกและขัดผิวพระ จึงทำให้องค์พระ มีผิวที่ใส สวยงาม ดุจผิวอำพัน...
        สมัยยุคปัจจุบันนี้ ยางไม้ลดบทบาทลง ถูกแทนที่ด้วยแลคเกอร์ นั่นเอง.....



(ภาพเปรียบเทียบ)


วิธีการ "เคลือบ" รักษาเนื้อพระซุ้มกอจึงพอจะสรุปตามที่ค้นคว้าหามาได้..ดังนี้

  • วิธีการเคลือบองค์พระด้วยยางไม้ 


(ตัวอย่าง..พิมพ์ใหญ่ มีลายกนก - เนื้อดินดิบ)



                               (ตัวอย่าง..พิมพ์ใหญ่ มีลายกนก - เนื้อดินศิลา)

(ตัวอย่าง..พิมพ์ใหญ่ ไม่มีลายกนก - เนื้อหิน)

(ตัวอย่าง..พิมพ์ใหญ่ ไม่มีลายกนก - เนื้อหิน)

    วิธีการเคลือบพระซุ้มกอหรือกรรมวิธีการทำพระแบบโบราณคือ..การชุบเคลือบด้วยยางไม้ ไม่ว่าจะเป็นยางมะม่วงหรือยางไม้ประเภทอื่นๆ ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวเรียกโดยรวมว่า...ชุบด้วยยางไม้ ล้วนเป็นกรรมวิธีที่เป็นภูมิปัญญาของช่างประจำเมืองกำแพงเพชรโดยแท้จริง ซึ่งมีมาแต่โบราณกาล สันนิษฐานว่า "ยางไม้" น่าจะใช้เป็นตัวประสานหรือใช้ผสมเป็นตัวประสานในการก่ออิฐหรือสิ่งปลูกสร้างในสมัยโบราณ ซึ่งยังไม่มีปูนก่อสร้างเหมือนในยุคปัจจุบันนี้
   ช่างหรือผู้พิมพ์พระ...เมืองกำแพงเพชร คงจะนำแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ยางไม้ในการปลูกสร้าง มาชุบเคลือบพระพิมพ์ดินเผาเพื่อให้เกิดความคงทน เพื่อการสืบอายุพระพุทธศาสนา
    ด้วยเนื้อหาและมวลสารที่มีความแกร่งและส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาแบบพระเนื้อดินดิบ บางองค์ผิวพระกลายสภาพคล้ายหินอัคนี อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพจากชั้นภายในมวลสาร ประกอบการชุบเคลือบด้วยยางไม้แบบกรรมวิธีโบราณ 
    พระซุ้มกอในกลุ่มประเภทนี้ กระผม..ผู้เขียนจึงคิดว่า..น่าจะเป็นพระซุ้มกอ..ในยุคแรกๆ อายุน่าจะกว่า ๗๐๐ ปีขึ้นไป ตามประวัติศาสตร์เมืองโบราณ ก่อนจะมาเป็นเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน

การจัดประเภทตามเนื้อหาขององค์พระ 

  • วิธีการเคลือบองค์พระด้วยยางไม้ขุ่น (แบบโบราณ)
                      ตัวอย่าง..พิมพ์ใหญ่ มีลายกนก 

  • การเคลือบองค์พระด้วยยางไม้ใส (แบบโบราณ)



  • การเคลือบองค์พระด้วยยางไม้ขาวขุ่น (มวลเนื้อแกร่งคล้ายหิน)



๒.การรักษาเนื้อพระซุ้มกอด้วยวิธีการ "คลุก"

   วิธีการรักษาเนื้อพระหรือกรรมวิธีการทำพระซุ้มกออีกวิธีหนึ่งที่ กระผม..ผู้เขียน ได้ค้นพบ และน่าจะเป็นพระซุ้มกอ..ในยุคแรกๆ ร่วมสมัยกับพระซุ้มกอที่มีวิธีการรักษาเนื้อพระหรือกรรมวิธีการทำพระแบบเคลือบหรือชุบด้วยยางไม้ ที่อายุน่าจะกว่า ๗๐๐ ปี 
   ด้วยการ "คลุก" หรือ "คลุกเคล้า" องค์พระซุ้มกอ เพื่อป้องกันการผุกร่อนหรือแมลงกัดแทะ ก่อนที่จะทำการบรรจุในกรุ หรือในไหใบเล็กๆแบบไหดินเผา

วิธีการ "เคลือบ" รักษาเนื้อพระซุ้มกอจึงพอจะสรุปตามที่ค้นคว้าหามาได้..ดังนี้
  • การคลุกองค์พระด้วยขี้เถ้า (พระซุ้มกอยุคแรกๆ)
                       ตัวอย่าง..พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีลายกนก 



    เมื่อทำการ "คลุก" หรือ "คลุกเคล้า" องค์พระซุ้มกอ แล้วจึงทำการบรรจุในกรุ หรือในไหใบเล็กๆแบบไหดินเผาโบราณ ยกให้เป็นเป็นภูมิปัญญาเชิงช่าง ของช่างสกุลเมืองกำแพงเพชรโดยแท้จริง 

  • การคลุกองค์พระด้วยดินเหนียว (แบบโบราณ)

(ด้านหลัง)

    กรรมวิธีการคลุกพระด้วยดินเหนียว ทำให้องค์ดินเหนียวที่คลุกองค์พระ เมื่อผ่านกาลเวลามานานหลายร้อยปี ดินเหนียวที่คลุกองค์พระ มีการละลายหรือสลายตัวติดกับผิวพระ จึงทำการล้างคราบดินเหนียวออกยาก แต่ผิวเนื้อพระจะมีลักษณะเป็นเกล็ดแข็ง เนื้อในมีความนุ่มนวล ดูสบายตา 

(ตัวอย่างการล้างคราบดินเหนียวในระดับหนึ่ง)

  • การคลุกองค์พระด้วยปูนขาว (แบบโบราณ)



(ตัวอย่าง องค์คลุกปูนขาวโบราณ - ด้านหน้า)

(ตัวอย่าง องค์คลุกปูนขาวโบราณ - ด้านหลัง)

สี..พระซุ้มกอ

๑.สีอิฐ เนื้อดินเผาธรรมดา
    สีอิฐและเนื้อดินเผาธรรมดา สีอิฐและเนื้อดินเผาธรรมดา เนื้อพระยังดูหยาบกว่าชนิดเนื้อื่นๆ เมื่อนำมาล้างหรืออารารธนาห้อยคอใช้แล้ว จะทำให้สีและเนื้อพระมีความเปลี่ยนแปลงไป แบบที่เรียกว่า "สีหรือเนื้อมะขามเปียก"         เนื้อพระยังดูหยาบกว่าชนิดเนื้อื่นๆ เมื่อนำมาล้างหรืออารารธนาห้อยคอใช้แล้ว จะทำให้สีและเนื้อพระมีความเปลี่ยนแปลงไป แบบที่เรียกว่า "สีหรือเนื้อมะขามเปียก"

(ตัวอย่าง พระสีอิฐที่ยังไม่ผ่านการล้างผิว - ผิวเดิม)
พระซุ้มกอ กรุวัดซุ้มกอ


      
                              (ตัวอย่าง พระสีอิฐยังไม่ผ่านการล้างผิว - ผิวเดิม)

                         (ตัวอย่าง พระสีอิฐที่ยังไม่ผ่านการล้างผิว - ผิวเดิม)


๒.สีหม้อดินเผาใหม่
            
    พระซุ้มกอสีหม้อใหม่  ผิวเนื้อดูมีความละเอียดมาก มีความเต่งตึงของผิวสูง วรรณะแบบสีเหลืองอมแดงมองดูแล้วสวยงาม 

                          สีหม้อดินเผาใหม่ องค์ที่ ๑ กรุวัดพระบรมธาตุนครชุม                         (หน้า)


                                                                                     (หลัง)


สีหม้อดินเผาใหม่ องค์ที่ ๒ (คลุกปูน) กรุวัดพระบรมธาตุนครชุม

๓.สีส้ม 



๓.สีดอกพิกุลแห้ง (เหลืองอมเทา)


๔.สีเหลือง

                            สีเหลืองนวล องค์ที่ ๑ (กรุนาตาคำ)                     
 (หน้า)

 (หลัง)

สีเหลือง องค์ที่ ๒



๔.สีผ่าน (สองสีขึ้นไป)
    พระซุ้มกอ..สีผ่านหรือมีตั้งแต่สองสีขึ้นไป เป็นวรรณะ (สี) ที่มีความสวยงามแปลกตา และหาพบยากยิ่งกว่าชนิดพระที่มีเนื้อมวลสารสีเดียว
    การเกิดสีแบบสีผ่านนี้ เกิดจากวิธีการเผาหรือเกิดจากการละลายจากสสารภายในที่ละลายตัวนำพาแร่ธาตุต่างๆออกมา จึงทำให้องค์พระมีหลายสี แต่กระบวนการนี้ต้องใช้เวลานานมากๆเป็นระยะเวลาตั้งแต่หลายร้อยปีขึ้นไป

สีผ่าน องค์ที่ ๑  (ส้ม-ขาวเผือก)


 สีผ่าน องค์ที่ ๒ (อุลตร้าแมน) - พระซุ้มกอขาว ผิวเป็นเกล็ดแข็ง


  โทนสีที่แบบสีเทาอมฟ้าขาว แซมประปรายด้วยสีแสดของแร่เหล็กที่ละลายมาจากดินลูกรัง (a reddish-black mineral - Hematite)  รวมด้วยดวงพระเนตรทำให้ผมนึกถึงการ์ตูนยอดฮิต "อุลตร้าแมน" ในสมัยก่อนจริงๆ 
   มวลสสารที่ละลายสลายตัว ทำให้เกิดการผสมสีกันของระหว่างแร่ธาตุ เกิดเป็นสีผ่านอย่างที่เห็น มีความนุ่มนวล สบายตาและมีความละเอียดมาก เนื่องจากการสลายตัวของมวลสสารแล้วเกิดการหด บีบอัด รวมตัวเป็นมวลเดียวกัน


สีผ่าน องค์ที่ ๓  (ดำ-ขาวอมเขียว)

 (หลัง)



สีผ่าน องค์ที่ ๔  (ขาว-เหลืองใบไผ่)

สีผ่าน องค์ที่ ๕ (สองสีขึ้นไป) 

มวลเนื้อด้านหน้าคล้ายมวลกระดูกหรือแบบซากฟอสซิล (Fossil) หาพบยากมาก

    โทนสีที่แบบอมฟ้าขาว สวยงามมาก  คงจะเกิดจากแร่เหล็กที่ละลายหรือสลายตัวออกมาแบบองค์อุลตัาแมน แรกเริ่มเดิมที สีดั้งเดิมขององค์พระจะออกแบบสีเทาหม่นปนสีเหลืองซีด แต่เมื่อนำมาทำการล้างผิว จึงปรากฎสีอย่างที่เห็น เข้าใจว่าพรายน้ำทำปฏิกิริยา จึงทำให้สีพระดูสดใสขึ้นและสวยงาม มวลเนื้อส่วนสีฟ้าดูแข็งคล้ายกระดูกและเกิดเฉพาะด้านหน้าเท่านั้น..

    พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ มีกนก มวลเนื้อฟอสซิล(Fossil) (หาพบยากมาก) กรุวัดพระบรมธาตุนครชุม





๕.สีแดงดำ (แดงเข้ม)

สีแดงดำองค์ที่ ๑ (ชุบยางไม้ขุ่น) 



๕.สีเขียวหินครก 



ความแกร่งของเนื้อองค์พระ ดูคล้ายหิน โดยเฉพาะส่วนพระอุระ (อก) และด้านหลัง

๕.สีขาวนวล
สีขาวนวล องค์ที่ ๑ (ลายวงปีตาไม้)


สีขาวนวล (ขาวอมเหลือง) องค์ที่ ๒  (นินจาเต่า)
(หน้า)

(หลัง)

สีขาวนวล (อมเขียว) องค์ที่ ๓

สีขาวนวล (อมเขียว) องค์ที่ ๔


สีขาวนวล (หน้าสว่าง..หลังมืด) องค์ที่ ๕

๕.สีขาว (เผือก)

สีขาวเผือก องค์ที่ ๑ พิมพ์ใหญ่ ไม่มีกนก 
(หน้า)

(หน้า)

สีขาวเผือก องค์ที่ ๒ พิมพ์ใหญ่ ไม่มีกนก 
(หน้า)


(หลัง - แตกลายรากไม้ - คราบน้ำว่าน)

พระซุ้มกอขาว พิมพ์ใหญ่ กรุลานดอกไม้ (กรุเก่าวัดซุ้มกอ)

    พระซุ้มกอ กรุลานดอกไม้ หาพบได้ยากมาก เดิมทีคุณลุง..เล่าว่าเป็นพระซุ้มกอที่แตกกรุออกมาจากยอดเจดีย์ทีหักพังลงมาขวางทางในวัดซุ้มกอ จนกลายเป็น "เจดีย์ยอดด้วน" ในปัจจุบัน ซึ่ง "หลวงพ่อปลั่ง(พระวิเชียรโมลี)" วัดพระบรมธาตุ จ.กำแพงเพชร ได้นำพระซุ้มกอที่แตกกรุออกมาจากยอดเจดีย์ของวัดซุ้มกอคราวนั้น นำมาบรรจุไว้ในเจดีย์วัดลานดอกไม้ คุณลุงเล่าว่า...น่าจะประมาณปี ๒๔๘๐ กว่าๆ และยังเป็นคนจูงแขนพาหลวงพ่อซึ่งตอนนั้นท่านได้ใช้ไม้พยุงตัวในการเดินแล้ว เพื่อช่วยหลวงพ่อ...เก็บนำรวบรวมพระซุ้มกอ...

เจดีย์ (ยอดด้วน) หนึ่งเดียวในโบราณสถานวัดซุ้มกอ เวลานี้




พระซุ้มกอ..พิมพ์หายาก (พิเศษ)

พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีกนก เกศเปลวเพลิง

องค์ที่ ๑



องค์ที่ ๒

  

    พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีกนก องค์เกศเปลวเพลิง พุทธศิลป์แบบสุโขทัย ค้นพบตอนนี้ (ถึงปี ๒๕๖๑) เพียงแค่จำนวนไม่กี่องค์เท่านั้น โดยบรรจุอยู่ในไหดินเผาใบเล็กๆ รวมกับพระพิมพ์ซุ้มกอ พิมพ์อื่นๆ 
    ลักษณะผิวยังอยู่ในสภาพแบบเดิม ยังไม่ผ่านการอาราธนาห้อยคอใช้ องค์พระจึงมีสีแห้งซีดผาด 


 พระกรุวัดหนองพิกุล (วัดพิกุล)

 (ตัวอย่าง - ภาพประกอบ)

๑.องค์ฝาไหดินเผา



๒.พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ ลายกนก



   ลักษณะความพิเศษพระซุ้มกอองค์นี้ นอกจากจะมีลักษณะเนื้อที่ดูหนึกนุ่มแล้ว ยังปรากฏรอยรูแทงเป็นหลุมของบล็อคแม่พิมพ์ ในซอกแขนซ้ายองค์พระและลักษณะของมวลเนื้อสลาย



๓.พระนาคปรกลูกยอ (เนื้อแบบหินทั้งองค์) พุทธศิลป์ขอมโบราณ


๒.พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ ลายกนก กรุวัดฤษี (ผิวใส เนื้อจัด หลัง ๑ รอน)



พระซุ้มกอ กรุวัดฤษี

(องค์ที่ ๑ )

(องค์ที่ ๒)

(องค์ที่ ๓)


พระซุ้มกอ กรุวัดพระบรมธาตุนครชุม

( พิมพ์ใหญ่ ลายกนก เนื้อแดงอมชมพู )
   พิมพ์ใหญ่ ลายกนก กรุไหดินเผา (ไหร่วม ใบที่ ๑) เนื้อแดงอมชมพู หนึกนุ่ม เป็นเนื้อมาตรฐานพระซุ้มกอทั่วๆไปและแบบแม่พิมพ์นี้ส่วนมากพบในกรุวัดพิกุล กรุวัดซุ้มกอ กรุวัดพระบรมธาตุ..เป็นต้น  (พระสภาพเดิมจากกรุ ยังไม่ผ่านการอาราธนาใช้) 


รวมพระซุ้มกอ (ยกตัวอย่างไหดินเผาใบที่ ๑ มีพระสังกัจจายน์ ๑ องค์)

(องค์เม็ดแร่เหล็ก)



    พิมพ์ใหญ่ ลายกนก กรุไหดินเผา (ไหร่วม ใบที่ ๑) เนื้อเขียวเทา คราบแร่ดอกมะขาม แกร่งและแห้ง องค์นี้พิเศษด้านหลังมีก้อนแร่คล้ายเหล็ก เม็ดกลมแดงเข้มจนเกือบดำ แสดงการตกผลึกของแร่เหล็กจนมีสัณฐานที่กลมกลึง (พระสภาพเดิมจากกรุ ยังไม่ผ่านการอาราธนาใช้) 

เม็ดแร่จิ๋วกลมมน

   เม็ดแร่คล้ายเหล็กหรือเม็ดแร่หินนั้น มีสันฐานที่กลมมนเป็นที่น่าอัศจรรย์ในมวลสารพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร มีทั้งชนิดที่ดูมันวาวคล้ายนิลหรือที่เรียกว่าคล้ายเหล็กไหลแบบผุดออกมาจากเนื้อเอง มีทั้งขนาดที่เล็กจิ๋วมากและขนาดที่พอสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า และมีชนิดที่ดูคล้ายแร่หินหรือแร่เหล็ก ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับพระ สามารถหลุดออก ตกหล่น หรือหลุดหายเหลือแต่หลุมแร่ได้ ซึ่งเม็ดแร่ประเภทนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นมาเอง แต่น่าจะมีการร่อนกรองแล้วนำมาผสมทำองค์พระ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

(ตัวอย่าง) 
เม็ดแร่หินกลมมนในชิ้นส่วนชำรุดของพระยอดขุนพลเนื้อดิน กรุวัดพระบรมธาตุนครชุม 





                                              (ตัวอย่าง- พระซุ้มกอ) 

(พิมพ์ใหญ่ ไม่มีกนก เนื้อว่านเทา-ดำ)




   พิมพ์ใหญ่พิเศษ ไม่มีลายกนก กรุไหดินเผา (ไหร่วม ใบที่ ๑) เนื้อว่านเทา -ดำ ชำรุดในไห มวลเนื้อว่านล้วนๆ สังเกตที่ด้านข้างได้อย่างชัดเจน เมื่ออัดเข้าบล็อคแม่พิมพ์แล้ว จะไม่มีการตัดขอบองค์พระอย่างพระเนื้อดิน เพราะเส้นใยว่านจะดึงกัน จึงเห็นส่วนเนื้อปีกพระ และไม่มีแร่ดอกมะขาม (พระสภาพเดิมจากกรุ ยังไม่ผ่านการอาราธนาใช้ ) สีขาวคือเนื้อปูนขาวจากการปิดผนึกฝาไห



(พิมพ์ใหญ่ ลายกนก เนื้อหินทั้งองค์)




 พิมพ์ใหญ่ ลายกนก กรุไหดินเผา (ไหร่วม ใบที่ ๑) เสน่ห์ที่เนื้อหินแกร่งสีขาวอมชมพูทั้งองค์ แร่ดอกมะขามตรงหน้าอกและบ่าซ้ายแข็งเหมือนสนิมเหล็ก รอยหยิบจับที่ยุบตัวเป็นธรรมชาติ (พระสภาพเดิมจากกรุ ยังไม่ผ่านการอาราธนาใช้)  


(พิมพ์ใหญ่ ลายกนก พระซุ้มกอฟ้า)



    พิมพ์ใหญ่ ลายกนก (หน้าหนุ่ม) กรุไหดินเผา (ไหร่วม ใบที่ ๑) เสน่ห์ที่เนื้อสีเทาอมฟ้า ใบหน้า -ดวงตาแม้จะไม่ชัดเจนแต่ก็ให้ความรู้สึกดุจมีชีวิต (เส้นสายไม่แลดูทื่อหรือกระด้าง) แร่ดอกมะขามแซมสีส้มจางอ่อนๆ ด้านหลังปรากฏคราบการตกผลึกของดินเหนียวที่กำลังจะแปรเปลี่ยนสภาพเป็นปูน (พระสภาพเดิมจากกรุ ยังไม่ผ่านการอาราธนาใช้ )


(มิติพระ-อธิบายด้วยภาพ)

    
      นิ้วหัวแม่มือซ้ายที่วางตำแหน่งนูนสูงกว่านิ้วห้วแม่มือขวา(ยุบต่ำกว่า) ทำให้การวางมือซ้อนได้มิติเสมือนจริง



(พิมพ์ใหญ่ ลายกนก เนื้อสีน้ำตาลเข้ม-คราบว่าน)



     พิมพ์ใหญ่ ลายกนก กรุไหดินเผา (ไหร่วม ใบที่ ๑) เนื้อน้ำตาลเข้ม คราบว่านปนการตกตะกอนของน้ำปูน แสดงถึงความหลากหลายของชนิดเนื้อมวลสารพระในหนึ่งไห  (พระสภาพเดิมจากกรุ ยังไม่ผ่านการอาราธนาใช้ ) 

(พิมพ์ใหญ่ ลายกนก เนื้อสีส้ม-คราบยางไม้ดำ)

    พิมพ์ใหญ่ ลายกนก กรุไหดินเผา (ไหร่วม ใบที่ ๑) เนื้อในแกร่ง สีส้มอ่อนๆ ผิวคราบยางไม้ดำ (พระสภาพเดิมจากกรุ ยังไม่ผ่านการอาราธนาใช้ ) 

(พิมพ์ใหญ่ ลายกนก เนื้อไม้)



  พิมพ์ใหญ่ลายกนก กรุไหดินเผา (ไหร่วม ใบที่ ๑) มวลเนื้อที่ไม่ละเอียด ไม่ปรากฏคราบหินปูน สีและความแกร่งหนึบไม่เหมือนพระเนื้อดิน ดูแล้วเหมือนมวลสารที่ทำมาจากไม้ป่นปนเนื้อดินเหนียวที่ใช้เป็นตัวประสาน (พระสภาพเดิมจากกรุ ยังไม่ผ่านการอาราธนาใช้ ) 


(องค์ชำรุด หักบิ่นในไห)


    องค์ชำรุด หัก เหลือแต่ส่วนกลางองค์พระ  (กรุไหร่วม ใบที่ ๑) แสดงมวลสารที่มีการสลายตัวตามกาลเวลา มวลสารที่ละลายออกเป็นชั้นสีเข้ม ชั้นสีอ่อนและละเอียด ยิ่งผ่านกาลเวลามากๆอย่าง....พระรอด มวลสารภายในยิ่งจะละลายรวมเป็นเนื้อ เป็นสีเดียวกัน 

รวมพระซุ้มกอ พิมพ์และมวลเนื้อต่างๆ....เนื้อว่านเหล็กไหลผุด และเนื้อไม้มงคล










พระซุ้มกอ พระพักตร์ดุจมีชีวิต


พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ เนื้อนุ่ม


    การเขียนเรื่องพระพิมพ์หรือพระเครื่องของเมืองกำแพงเพชรครั้งนี้ หวังเพียงสืบสานการอนุรักษ์พระบางพิมพ์หรือบางเนื้อที่หาดูชมได้ยากยิ่ง เพื่อเป็นการเรียนรู้แก่ชนคนรุ่นต่อๆไป ซึ่งกว่าจะได้ภาพแต่ละภาพ ผู้เขียน..ร.ต.อ.อภิชาติ ปัดภัย ต้องใช้ระยะเวลาในการเสาะแสวงหา และรวบรวมมาเป็นระยะเวลามากกว่าหนึ่งปี และจะพยายามปรับปรุงข้อมูลให้ดีๆยิ่งๆขึ้นไป


อีกหนึ่งตำนาน ที่เพิ่งค้นพบ..พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ (พิเศษ)




    บทความนี้เน้นกล่าวถึงเฉพาะพระพิมพ์ซุ้มกอ ซึ่งในบทความต่อๆไป จะได้นำมาเล่าแยกกล่าวถึงพระพิมพ์อื่นๆอันเป็นการเฉพาะด้วย เช่น พระลีลาเม็ดขนุนหรือพระพิมพ์อื่นๆซึ่งพบปะปนมากับหม้อไหดินเผาพระซุ้มกอ...เป็นต้น
    
    อนึ่ง เสน่ห์แห่งพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร ที่กระผม..ผู้เขียนหลงไหลเป็นอย่างมาก ..กว่าพระเครื่องในแถบอื่นๆ นั้นคือ ความพิสดารและความหลากหลายอันน่าอัศจรรย์ของมวลเนื้อแห่งพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร รวมถึงการผุดขึ้นมาเองของเม็ดแร่แปลกๆ สีน้ำเงินเข้ม ซึ่งนิยมเรียกกันว่า...เหล็กไหล....

พระซุ้มกอ น้ำเงิน (เนื้อแร่เหล็ก)
   พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ไม่มีกนก เนื้อแกร่ง ชั้นผิวมีสีน้ำเงินเข้ม เกิดจากการสะสมหรือการละลายตัวของแร่เหล็กมาสะสมที่ชั้นผิว ทำให้มีชั้นผิวเป็นสีน้ำเงินเข้มทั้งองค์ นับว่าหาพบยากมาก


 การเซ็ตตัวของชั้นผิว และชั้นคราบ เกิดจากการผ่านอายุกาลนานพอสมควร



จุดหรือลักษณะเด่นของพระซุ้มกอ..บางพิมพ์ (ไม่ใช่ทุกพิมพ์)

(ตัวอย่าง...๑)
พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีกนก องค์ชุบเคลือบด้วยยางไม้ กรุวัด(หนอง)พิกุล






(ตัวอย่าง...๒)
พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีกนก เนื้อเหลือง ลายไม้ องค์กรุ..หม้อไหดินเผา วัดพระบรมธาตุนครชุม 






    พระเนื้อดิน ไม่อาจชี้ตำหนิแท้หรือปลอมได้ เนื่องจากการผสมมวลดินที่ไม่สม่ำเสมอ การพิมพ์หรือกดพระ แรงที่ใช้ในการกดแต่ละมุมแต่ละครั้งไม่เท่ากัน การอุดตันของเบ้าแม่พิมพ์ ความร้อนจากการเผาที่ไม่เท่ากัน ธรรมชาติ กาลเวลา สภาพกรุและอื่นๆ
         
       พระเนื้อดิน สามารถแค่บ่งบอกลักษณะหรือจุดเด่นได้ แต่ในพระที่ค่อนข้างสมบูรณ์เท่านั้น
พระเนื้อดิน....จบที่เนื้อ(ธรรมชาติ) ไม่ได้จบที่พิมพ์

ร.ต.อ.อภิชาติ ปัดภัย รอง สวป.สภ.เมืองตาก

"นักเดินทางเข้าป่าและเล่าเรื่อง"

3 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆครับ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากครับ สำหรับความรู้ครับ

    ตอบลบ
  3. ผมมีพระลีลา ลายไม้ ยุหนึ่งองค์ ผมอยากทราบสถานที่ใกล้เคียงหรือที่มาของพระ คับ ผมมั่นใจ ว่าออกจากที่เดียวกัน

    ตอบลบ