พงไพร ผีป่า นางไม้

พงไพร ผีป่า นางไม้

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ตามรอยธรรม วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

"วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร"

"พระธาตุศรีจอมทอง"

    "วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร" เป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีชวดหรือปีหนู  สถานที่ตั้งอยู่บนดอยจอมทอง  เขตพื้นที่หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณเกือบ ๖๐ กิโลเมตร ติดเส้นทางหลักสายเชียงใหม่-ฮอด ใกล้แยกเส้นทางก่อนจะขึ้นสู่ดอยอินทนนท์


          ยังจำได้ในสมัยเมื่อหลายปีก่อนได้มีโอกาสมากราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุและกราบนมัสการหลวงปู่ทอง เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง เลยคิดว่าหากมีโอกาสอยากจะกลับมาแวะกราบนมัสการอีกสักครั้งและใช้เวลาอยู่ที่นี่ให้นานๆหน่อย ในที่สุดก็ได้กลับมากราบไหว้นมัสการอีกครั้งสมความปราถนา
          ขับรถมาถึงบริเวณวัด ก็เวลาบ่ายโมงกว่าๆของเดือนมกราคม สภาพอากาศแดดร้อนจัดมาก ต้องหามุมแอบหลบร้อนถ่ายภาพอยู่นาน

    วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ตั้งอยู่บนยอดดอยจอมทองดังปรากฏตามนามของวัด พระเจดีย์ยังคงมีรปูปแบบเจดีย์ล้านนาแบบเจดีย์ทรงระฆังคว่า มีความโดดเด่นที่ฐานรากเหลี่ยมย่อมุม ตั้งประดิษฐานอยู่ด้านหลังพระวิหารแบบคติการสร้างวัดของทางล้านนาทั่วไป





พระวิหารลวดลายหน้าบันรูปแบบศิลป์แบบล้านนาแบบม้าต่างไหม ลงสีทองตบแต่งปราณีตสวยงาม


     ด้านในพระวิหารมีกู่พระเจ้าแบบประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่มุมหรือมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ ลวดลายประดับปั้นแต่งวิจิตรตระการตาแบบกู่พระเจ้าในวัดทางล้านนา

กู่พระเจ้า...ด้านหน้าประดิษฐานพระพุธรูปประธาน "หลวงพ่อเพชร"


กู่พระเจ้าด้านข้าง ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากร





 กู่พระเจ้าเก็บประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวาไว้ภายใน ประชาชนจึงมากราบไหว้นมัสการขอพรอยู่เป็นประจำ

         อีกแบบของกู่พระเจ้าหรือแบบมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ภายใน...วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง



     กับอีกเส้นทางบุญ..เดินทางเก็บเกี่ยวเรื่องราวแห่งวัดวาเล็กๆน้อยๆในเส้นทางที่แสนประทับใจครับ

วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พุทธสถาปัตย์แห่งล้านนา วัดต้นเกว๋น (วัดอินทราวาส) บ้านต้นเกว๋น ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่


 "วัดต้นเกว๋น (วัดอินทราวาส )"
บ้านต้นเกว๋น ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่


     "วัดต้นเกว๋น"หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า"วัดอินทราวาส" ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านต้นเกว๋น ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ใกล้ๆกับที่ตั้งของอุทยานหลวงราชพฤกษ์และวัดพระธาตุดอยคำ


      "วัดต้นมะเกว๋นหรือวัดอินทราวาส" เป็นวัดที่มีอาณาเขตไม่ใหญ่โตกว้างขวางมากนัก แต่พุทธศิลป์ภายในวัดนั้นทรงคุณค่า อันเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านนาดั้งเดิมและยังคงอนุรักษ์ไว้สืบทอดฝีมือมรดกเชิงช่างแบบล้านนา ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง



    ที่ตั้งของวัดในสมัยก่อนเต็มไปด้วยป่าต้นมะเกว๋น ชาวบ้านจึงเรียกว่า "วัดต้นมะเกว๋นหรือวัดต้นเกว๋น" ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดอินทราวาส" ตามชื่อเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง คือครูบาอินทร์ ที่มีความสำคัญและนำความรู้เชิงช่าง มาปรับปรุงพัฒนาวัดในช่วงประมาณ พ.ศ.๒๓๙๙ -๒๔๑๒ จนมีพุทธศิลป์แบบล้านนาดังปรากฏในแบบปัจจุบัน

 "ต้นมะเกว๋น"หรือบางทีก็เรียกต้นตะขบป่า เป็นไม้ป่าโบราณปัจจุบันหาชมได้ยากแล้ว ลักษณะของต้นมะเกว๋นเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดปานกลาง กิ่งหรือลำต้นมีหนามแหลมยาวขึ้นอยู่ประปรายตามซอกใบหรือกลางลำต้น ลูกเมื่อสุกแล้วสามารถนำมารับประทานได้ มีลักษณะกลมประมาณลูกแก้วเด็กเล่น สีน้ำตาลเข้มถึงออกดำ สมัยก่อนมีตวงขายหรือวางขายเป็นกองๆตามตลาด รสชาติหวานอมฝาดเล็กน้อย 


บริเวณวัดยังมีต้นตาลโบราณขึ้นสูงแซม ได้บรรยากาศไปอีกแบบ


"วิหารวัดต้นเกว๋น"
    "วิหารวัดต้นเกว๋น" แสดงถึงรูปแบบความเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่ยังคงแบบดั้งเดิมและสมบูรณ์หาชมได้ยาก โครงสร้างยังคงรูปแบบหน้าบันเป็นแบบม้าต่างไหม มีโครงหลังคาลดหลั่นกันแบบหน้าสามชั้นหลังสองชั้น 

"โครงสร้างหน้าบันแบบม้าต่างไหมหรือคนบรรทุกสัมภาระ(ไหม)บนหลังม้า"






ภายในวิหารวัดต้นเกว๋น

พระประธานภายในวิหาร


ดาวเพดานในวิหาร



หน้าต่างแบบช่องลมโบราณ


        คันทวยหรือค้ำยันและบัวหัวเสา แกะสลักลวดลายสวยงาม โครงสร้างส่วนหนึ่งประดับด้วยกระจกสี

    เอกลักษณ์อีกรูปแบบหนึ่งของสถาปัตยกรรมการสร้างวัดในแบบล้านนาคือจะนิยมปั้น "พญานาค"โดยมีตัว "มกร" คายพญานาคออกมา เรียกว่า "มกรคายนาค" โดยจะนิยมปั้นไว้ที่สองข้างประตูทางเข้าวัด บันไดทางขึ้นพระเจดีย์ สองข้างบันไดทางขี้นโบสถ์หรือวิหาร เป็นต้น


"มกรคายนาค"

    ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งอันเป็นเอกลักษณ์ของวิหารแห่งวัดต้นเกว๋นที่หาชมที่อื่นไม่ได้ คือการปั้น"มกรคายนาค"อีกตัวไว้ที่ส่วนหางของพญานาค ทำให้มีมกรสองตัวคายพญานาค  ศิลปะจึงเป็นแบบ "มกรคู่...คายนาค"
"มกร..ส่วนหางนาค"


"มกร..ส่วนศรีษะนาค"

"นาค"

                                 พระอาทิตย์ยามเกือบบ่ายโมง..พอถ่ายรูปออกมาก็ได้เป็นแบบนี้ครับ


    "มณฑปจตุรมุข" พบเห็นเพียงแห่งเดียว มีลักษณะแบบศาลาโถงหรือแบบเปิดโล่ง มีหน้ามุขหรือส่วนหน้าของอาคารยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอมีซุ้มหลังคาปราสาทอยู่ด้านบนประดับอีกชั้นเพิ่มความโล่งของพื้นที่อาคาร "มณฑปจตุรมุข"เคยใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อให้ประชาชนสักการะบูชาและสรงน้ำ




"ภายในมณฑปจตุรมุข"


โคมล้านนา

      นอกจากนั้นโดยรอบวิหารยังมีศาลาก่อสร้างเป็นระเบียงทางเดิน สามารถเดินอ้อมพระวิหารได้หรือเรียกว่า "ระเบียงคด"

         วิหารแห่งนี้ยังห้อมล้อมไว้ด้วยผืนทราย เช่นแบบที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูนหรือแบบวัดทั่วไปทางถิ่นล้านนา   อันมีความหมายถึงมหานทีสีทันดร ผืนน้ำมหาสมุทรกว้างใหญ่ล้อมรอบจักรวาลและเขาพระสุเมรุในคติไตรภูมิ
       



    "วัดต้นเกว๋น" จัดเป็นโบราณสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แค่ได้มาชมรูปแบบของสถาปัตยกรรมก็ได้ความรู้ในด้านศาสตร์และศิลป์แห่งล้านนา เก็บความประทับใจย้อนรอยให้หวนนึกถึงวิถึชาวบ้านในอดีตได้ ปัจจุบัน..เพื่อการอนุรักษ์ไว้เป็นโบราณสถาน จึงได้แยกบริเวณที่ให้พระสงฆ์พำนักไว้ยังอีกบริเวณหนึ่ง