พงไพร ผีป่า นางไม้

พงไพร ผีป่า นางไม้

วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559

วัดพระธาตุดอยน้อย อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่


"พระธาตุดอยน้อย"

     "พระธาตุดอยน้อย"..... วัดพระธาตุดอยน้อย ตั้งอยู่ที่เขตตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเมื่อก่อนตำบลดอยหล่อขึ้นอยู่กับอำเภอจอมทอง ก่อนจะยกฐานะแยกตัวออกมาเป็นอำเภอดอยหล่อในปัจจุบัน

    "วัดพระธาตุดอยน้อย" สร้างโดยพระนางเจ้าจามเทวี ในคราเสด็จมาจากเมืองละโว้เพื่อไปครองเมืองหริภุญชัยเมื่อ พ.ศ.๑๒๐๑  โดยเสด็จมาทางชลมารคมาตามลำน้ำแม่ปิงและได้หยุดแวะประทับแรมยังบริเวณใกล้เคียงสถานที่แห่งนี้ พระองค์ทรงโปรดให้สร้างพระเจดีย์ที่บริเวณยอดดอยแห่งนี้เพื่อไว้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และจัดให้มีพิธีสมโภชเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน 
      พ.ศ.๒๐๓๙ พระเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ กษัตริย์ล้านนา ราชวงศ์มังราย ได้ค้นพบตำนานเจดีย์ของพระนางเจ้าจามเทวี ซึ่งขณะนั้นพระเจดีย์ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงมอบหมายให้ขุนดาบเรือนนำข้าราชบริพารมาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ และประมาณในปี พ.ศ.๒๓๐๐ วัดพระธาตุดอยน้อยได้ถูกทิ้งร้างไปช่วงระยะหนึ่งเนื่องจากเหตุภัยสงคราม ประชาชนพากันอพยพหลบลี้หนีภัยสงคราม ต่อมา พ.ศ.๒๔๗๕ ครูบาอินทจักร ครูบาพรหมมา ครูบาคำภีระ  ได้ร่วมกันบูรณะและยกฐานะขึ้นเป็นวัดจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ 
   ตำนานและประวัติอายุกาลของวัดพระธาตุดอยน้อย จึงมีมาไม่ต่ำกว่า ๑,๓๐๐ ปี ล่วงมาแล้ว ปัจจุบันวัดพระธาตุดอยน้อยได้จัดให้มีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุประจำปี ในวันเพ็ญ ขึ้น๑๕ ค่ำเดือน ๘ เหนือ จนกลายเป็นงานประจำปีของทางวัด

    บันไดนาคทางเดินขึ้น"วัดพระธาตุดอยน้อย" ระยะทางประมาณ ๒๔๐ ขั้นบันได รถยนต์สามารถขับเลี่ยงขึ้นไปถึงบริเวณลานจอดบนวัดได้


ซุ้มประตูโขง เชิงบันไดนาคทางเดินขึ้นวัด

"วัดพระธาตุดอยน้อย" ตั้งอยู่บนทำเลที่ตั้งมีลักษณะเป็นภูเขาขนาดย่อม ตามชื่อ "ดอยน้อย" ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำปิง สามารถชมทิวทัศน์และสายน้ำแม่ปิงได้

          จุดชมวิวทิวทัศน์และสายน้ำแม่ปิง บริเวณด้านหลังวัด

"พระธาตุดอยน้อย" มีลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบล้านนา รูปแบบเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ โดยเน้นความโดดเด่นที่ฐานราก องค์ระฆังจะมีขนาดเล็ก องค์พระธาตุหุ้มด้วยแผ่นทองจังโก๋ แบบการก่อสร้างพระเจดีย์ของวัดในทางล้านนา

    "อัศจรรย์..แสงแห่งลูกแก้วนิพพาน"...เป็นภาพที่ถ่ายได้โดยในช่วงกลางวันแดดร้อนๆ อาจจะเป็นมุมตกกระทบของแสงแล้วถูกกรองแยกสเปคตรัมสะท้อนทะลุออกมาเฉพาะคลื่นแสงสีแดงอมส้ม ผมเห็นเป็นเหตุอัศจรรย์ที่ถ่ายภาพได้ จึงขอเรียกว่า"อัศจรรย์..แสงแห่งลูกแก้วนิพพาน" ซึ่งหมายถึง...เครื่องหมายของภาวะแห่งความหลุดพ้น

    "พระธาตุดอยน้อย" ตั้งประดิษฐานอยู่ในเขตแนวรั้วกำแพงแก้ว  มีซุ้มพระประดิษฐานทั้งสี่ทิศ แบบจตุรทิศ และประดับด้วยฉัตรทั้งสี่มุม ซึ่งฉัตรใช้เป็นสิ่งสักการะเครื่องสูงชนิดหนึ่ง 

ยามตะวันส่องแสงกล้า







รูปปั้น "ยักษ์หลับ" คติคำสอนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท...."สติ"

ผึ้งหลวง มาทำรัง ตามแนวย่อมุมต่างๆขององค์พระธาตุ





"ปูชนียวัตถุที่สำคัญ"

"พระเจดีย์หินกิ่ว"


    "พระพุทธเจ้าน้อย" สัญลักษณ์แสดงถึงการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ และ "รอยพระพุทธบาท" สัญลักษณ์สิ่งแทนพระพุทธองค์ สำหรับพระพุทธเจ้าน้อยได้เคยมีการขุดค้นพบที่วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน หล่อด้วยโลหะ อายุเก่าแก่กว่าพันปี



"เจ้าแม่จามเทวี"

"พระวิหารหลังเก่า"

    มองจากภายในพระวิหารหลังเก่า เห็นโขงพระหรือกรุพระ หรือที่ประดิษฐานพระ สร้างโดยพระนางเจ้าจามเทวี พร้อมกับพระเจดีย์องค์ใหญ่ ตั้งอยู่ด้านข้างตัวพระวิหาร

      จารึกอักษร เขียนด้วยสำนวนโวหารในยุคนั้น เกี่ยวกับการสร้างพระวิหารหลังนี้

พระพุทธรูป ประดิษฐานภายใน

       อนุสาวรีย์หลวงพ่อพระสุพรหมยานเถระหรือครูบาพรหมมา วัดพระพุทธบาทตากผ้า พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในอดีต จังหวัดลำพูน


   การเดินทางบุญ...แต่แฝงไปด้วยแขนงเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะ รูปแบบสถาปัตยกรรม บ่งบอกวิถีชีวิตเรื่องราว เรื่องเล่า ร่องรอยจากอดีต...กับ "ร้อยป่า ร้อยเรื่องราว หลากเรื่องเล่า" ตำนานวัดพระธาตุดอยน้อย เฉกเช่นเดียวกันกับตำนานของการสร้างพระพุทธรูปที่ผาสามเงา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก สามารถศึกษาค้นคว้าเรื่องราวประกอบกันได้ครับ..