พงไพร ผีป่า นางไม้

พงไพร ผีป่า นางไม้

วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

ตามรอยเจ้าแม่จามเทวี ผาสามเงา อ.สามเงา จ.ตาก

"อนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี วัดป่าพระสามเงา"

"ผาสามเงา"
          
        ปีพุทธศักราช ๑๒๐๓ เหล่าบรรดาพระฤๅษีหลังจากสร้างเมืองใหม่เสร็จ ก็ให้นามเมืองใหม่นี้ว่า นครหริภุญชัย แล้วบรรดาพระฤๅษีก็ปรึกษากันว่าจะหาใครผู้ใดมาเป็นเจ้าเมืองเพื่อปกครองประชาราษฏร์ให้อยู่ดีมีสุขต่อไป ในที่สุดท่าน "ฤาษีวาสุเทพหรือสุเทวะฤาษี" ได้เสนอทูลเชิญ "พระนางจามเทวี" จากเมืองละโว้หรือเมืองลพบุรีให้มาปกครองเมืองโดยบรรดาเหล่าพระฤาษีล้วนต่างไม่ขัดข้อง  
                                      "ฤาษีวาสุเทพหรือสุเทวะฤาษี" วัดดอยติ จังหวัดลำพูน

วัดดอยติ กราบ "สุเทวะฤาษี" "ครูบาศรีวิชัย องค์ใหญ่" จังหวัดลำพูน

     เมื่อครั้งพระนางจามเทวีเสด็จทางชลมารคเดินทางจากเมืองละโว้หรือลพบุรี เพื่อไปครองเมืองหริภุญชัยตามคำทูลเชิญ ขบวนเรือพระที่นั่งของพระนางได้เสด็จไปตามแม่น้ำปิง โดยมีสถานที่เกี่ยวข้องในการเดินทางเสด็จหลายแห่ง เช่นครั้นเดินทางผ่านซากเมืองเก่า จึงไดโปรดให้มีการบูรณะขึ้นมาใหม่ แล้วตั้งชื่อเมืองว่า “เมืองตาก” คืออำเภอบ้านตาก จังหวัดตากในปัจจุบัน 
     จนกระทั่งขบวนเรือพระที่นั่งได้มาหยุดพักริมฝั่งหน้าผาแห่งหนึ่งของแม่น้ำปิง ขณะที่พระนางได้ทอดพระเนตรขึ้นไปบนหน้าผา พลันปรากฏเงาของพระพุทธรูปเรียงกันจำนวน ๓ เงา ประทับอยู่บนหน้าผาแห่งนั้น พระนางเห็นเป็นเหตุอัศจรรย์ จึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นจำนวน ๓ องค์ ณ หน้าผาแห่งนั้น ตามเหตุที่ปรากฏ ต่อมาจึงปรากฏเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “ผาสามเงา”


สถานที่จอดรถหน้าผาสามเงา

ผาสามเงา 

     ความแปลกของผาสามเงา เป็นหน้าผาดินคล้ายๆแบบดินลูกรังแบบตัดผ่าครึ่ง  มีสีแดงจัด ดินหน้าผามีลักษณะแข็ง มีหินก้อนเล็กและใหญ่ แซมอยู่ในเนื้อดิน ช่วยให้โครงสร้างดินแข็งแกร่งและคงอยู่ ท้าลม ท้าฝนได้อย่างน่าอัศจรรย์




ทางขึ้นผาสามเงา

รูปปั้นลิง ริมทางขึ้นผาสามเงา น่าจะแสดงถึงความเกี่ยวพันกับเมืองลพบุรี

รูปปั้นยักษ์เฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ บันไดทางขึ้นผาสามเงา




พระพุทธรูป ๓ องค์ ผาสามเงา


       พระพุทธรูปเป็นแบบปูนปั้นปางสะดุ้งมาร ฝีมือการปั้นผมคิดว่าน่าจะเป็นแบบสกุลช่างท้องถิ่นหรือช่างฝีมือชาวบ้าน




บนยอดของผาสามเงา ประดิษฐานพระเจดีย์สีขาว

มุมมองลงมาข้างล่าง ลานจอดรถ เห็นวัดป่าพระสามเงาอยู่ฝั่งตรงข้าม

วัดป่าพระสามเงา

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ในวัดป่าพระสามเงา

ภายในวัดป่าพระสามเงา

                              รูปปั้นพญานาคเลื้อยบนกำแพงวัด เป็นศิลปะพบได้ในวัดย่านท้องถิ่นนี้



 ทางขึ้นไปกราบนมัสการพระเจดีย์ด้านบนหน้าผา

ลานด้านบนหน้าผา



     เส้นทางขึ้นตอนแรกนึกว่าเป็นทางรถยนต์ขึ้นง่ายๆ ที่ไหนได้ทางแคบมาก ชันสุดๆ มีต้นไม้คู่ขวางทางด้านหน้า ชะลอความเร็วไม่ได้เลย ผลสุดท้ายเบียดต้นไม้ ผ่านได้พอดีแบบฉิวเฉียด สังเกตต้นไม้มีร่องรอยเฉี่ยวชนมาก่อนแล้วประมาณ 3 รอย ไม่แนะนำให้ขึ้นไปนะครับโดยเฉพาะไม่ใช่รถขับสี่ หรือรถขับสี่ยกสูงเกินมาตรฐานก็ไม่แนะนำ ทางเอียงและชันมาก เดินเท้าดีกว่า



กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง


 มองลงมาเบื้องล่าง


       ถนนสีเหลือง เป็นดอกของต้นราชพฤษ์ ต้นไม้ประจำชาติไทย ภาคเหนือเรียกต้นดอกลมแล้งหรือดอกลมแล้ง ภาคอีสานเรียกดอกคูณหรือต้นคูณ

             เส้นทางไปกราบหลวงพ่อพระสามเงา ค้นหาได้ไม่ยากนะครับ หรือจะใช้เส้นทางจากวัดพระบรมธาตุบ้านตาก วิ่งย้อนกลับมาประมาณ 30 กิโลเมตรกว่าๆนิดหน่อย เส้นทางไปเขื่อนภูมิพล

วันอังคารที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2557

กอดกระบากใหญ่ในหุบเขา เล่าเรื่องเจ้า "ธันวา" หมีควายผู้อาภัพ ที่..อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ป่าเขตรอยต่ออำเภอเมืองตากกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช

 ต้นกระบากใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

      "สี่เท้า...พยายามที่จะตะกรุยเข้ามาหาลูกน้อย ปาก...พยายามตะโกนเรียกหาลูกด้วยเสียงอันแผ่วเบา สองสายตา...เพ่งมอง จดจ้องลูกน้อยอย่างไม่กระพริบ" 

"ธันวา" หมีควายผู้อาภัพ



     อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช หรือชื่อเดิม "อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่" ตามชื่อต้นกระบากใหญ่ที่ค้นพบในเขตอุทยาน ตัวอุทยานตั้งอยู่ในท้องที่รอยต่อการสิ้นสุดระหว่างเขตอำเภอเมืองตาก และเขตเริ่มต้นอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ใช้เส้นทาง ตาก - แม่สอด ห่างจากตัวอำเภอเมืองตาก ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร
     ทริปนี้ออกเดินทางหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2557 หลบร้อนขึ้นเขาครับ 

    เส้นทางเป็นทางลาดยางขึ้นเขา สูงชัน โดยเฉพาะเวลาฝนตกต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ




    ตรงไปแล้วเลี้ยวขวาตามป้ายบอกเขตอุทยาน ก่อนถึงตลาดชาวเขาดอยมูเซอไม่กี่ร้อยเมตร


      ป้ายอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ตั้งโดดเด่นอยู่ริมทาง แต่เนื่องจากเส้นทางเป็นทางขึ้นเขา ต้องชลอความเร็วรถก่อนถึงพอประมาณ ไม่งั้นขับเลยทางเข้าอุทยานแน่

    ป้ายห้ามนำสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงเข้ามาในเขตอุทยาน

 ผมได้ย้อนกลับขึ้นมาเที่ยวอีกครั้ง ในตอนกลางเดือนตุลาคม ๒๕๕๗ สภาพอากาศไม่ถึงกับหนาวมาก เย็นสบาย สดชื่น เหมาะพอดีสำหรับการผ่อนคลาย  พื้นที่ฝั่งตรงข้ามด้านขวามือเป็นป่าหุบเขา ในช่วงเวลานั้น ป่าหญ้าขึ้นเขียวขจี  ขณะกำลังขับรถมุ่งตรงไปตัวอุทยาน ต้องเบรครถกระทันหัน "ฝูงหมูป่า"  กระโดดออกมาจากแนวป่า พวกมันพากันหันหน้าเข้าป่า ชะเง้อ...มองดูพรรคพวกของมันพากันกระโดดตามออกมาทีละตัวบ้าง สองตัวบ้าง แสดงถึงความรัก ความผูกพัน ความห่วงใย ที่ฝูงมีให้ซึ่งกันและกัน เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นหมูป่าแบบใกล้ๆ ตัวเป็นๆ  ตื่นตาตื่นใจมาก กะจำนวนคร่าวๆแล้ว น่าจะมีจำนวนราวๆ 16 - 18 ตัว คิดว่าน่าจะมีกระโดดตามมาอีก ตัวใหญ่สุด ดูบึกบึนแข็งแรง ขนแผงหลังบริเวณช่วงคอ ตั้งตรงสีน้ำตาลเข้ม ดูโดดเด่นมาก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ชั่วครู่เท่านั้น ราวๆไม่เกิน 5 วินาที ผมมัวแต่ตะลึง และตื่นเต้น จึงถ่ายรูปไม่ทัน พวกมันหันมาเห็นรถผมเข้า ก็พากันกระโดดพรึบเดียว กลับเข้าแนวป่าไป เราคว้าได้กล้อง รีบวิ่งตามไป.......เงียบกริบ...ป่าทั้งป่า...หุบทั้งหุบ...ไม่มีเสียงหมูร้อง..ไม่มีเสียงฝีเท้าหมูวิ่งกุบกับ แตกตื่นกระทบพื้นดิน กระทบใบไม้ ใบหญ้า ไม่มีแม้กระทั่งพุ่มไม้ไหว ตามแนวป่า...ทั้งที่ป่ารกทึบขนาดนั้น...ผมยังพยายามจ้องมองลงไปเผื่อจะได้ยิน ได้เห็นตัวมันอีกครั้ง...เงียบ..นานเป็นหลายนาที ก็ยังเงียบเหมือนเดิม....มันหายไปแล้ว...ทั้งฝูง แสดงว่าสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของหมูป่า....มีความว่องไว ปราดเปรียวมาก รู้จักการปรับตัวกับป่า และรู้จักการพรางตาจากศัตรู....หมูป่าจึงมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดจากสัตว์นักล่า เช่น..เสือ....ได้เป็นอย่างดี





ด่านเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน เจ้าหน้าที่ใจดี พูดคุยเป็นกันเองครับ


 ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

      ติดกับศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เป็นที่อยู่ของเจ้า "ธันวา" หมีควายกำพร้า ด้วยน้ำมือของมนุษย์ ต้องอยู่ตามลำพัง ผิดวิถีของสัตว์ป่า เห็นแล้วอดคิดสงสารมันไม่ได้ 

                                                                        (บ้านเจ้าธันวา)


               "เจ้าธันวา" ตัวล่ำบึ้ก ใหญ่มาก เดินไปมาท่าทางอุ้ยอ้าย แต่ก็เป็นไปตามธรรมชาติการเคลื่อนที่ของมัน

      ใครคิดจะล่าสัตว์ป่า ดูแววตามันก่อนครับ ถึงแม้มันจะเป็นสัตว์ดุร้ายในสายตาของคนเรา แต่มันก็ทำเพียงเพื่อปกป้องสิทธิ ปกป้องอาณาเขตในการหาอาหารของมัน ซึ่งก็เป็นธรรมดาของสัตว์ป่า หากไม่ตกใจ ไม่มีภัยถึงตัว มันก็คงไม่คิดที่จะทำร้ายใครก่อนหรอก



      ผมใช้เวลาอยู่กับ "เจ้าธันวา" หมีควายผู้น่าสงสาร ซะนานเลย ใจก็อดคิดย้อนไปในเรื่องราวครั้งในอดีต ตอนที่มันลืมตาดูโลกคู่กับพี่น้องของมันไม่ได้   
    ...แม่หมี..เฝ้าดูแลลูกหมีเพื่อที่จะให้มันเติบใหญ่ขึ้นมาอย่างทรนง แม่เลี้ยงดูลูกน้อย พร้อมถ่ายทอดสัญชาตญาณป่า เพื่อที่จะให้ลูกได้เติบใหญ่เอาตัวรอดในป่าได้อย่างทรนง พร้อมกล้าที่จะออกเผชิญกับป่าอันกว้างใหญ่ไพศาล แต่แล้วแม่หมี..มีโอกาสที่จะทำหน้าที่ในฐานะของแม่...เพียงไม่กี่วันเท่านั้นเอง

    บ่ายวันหนึ่งกลางเดือนธันวาคม..ท้องฟ้ามืดสลัว เมฆดำครึ้ม กลุ่มเมฆฝนเริ่มจะก่อตัวตั้งเค้า  ขณะที่แม่หมีกำลังเล่นกับลูกน้อยในเขตถิ่นฐานของมัน   พลัน.....เสียง..ปัง..ลูกกระสุนปืนพร้อมประกายไฟ แลบพ้นออกจากปลายปากลำกล้องปืนของนายพรานผู้ใจร้าย ซึ่งแอบซุ่มดักรอจังหวะมานานแล้ว  

     เสียง..ปัง..ตามมาอีกระลอก แข่งด้วยเสียงฟ้าร้องคำราม ที่ดูเหมือนจะพยายามเตือนให้นายพรานหยุดการกระทำ เสียงครืนๆ ของฟ้าร้องดังลั่นก้องป่า กลบเสียงปืนที่ดังก้องในหุบเขา แต่เสียงร้องคำรามเตือนของฟ้า หาได้ทำให้นายพรานรับรู้และหยุดการกระทำไม่ ขณะเดียวกัน..แม่หมีก็พยายามที่จะยืนขึ้นยืดอก พร้อมส่งเสียงคำรามให้ดังที่สุดในชีวิต เพื่อข่มขู่และขับไล่ศัตรูผู้รุกถิ่นฐานของมัน ผสมด้วยความเจ็บปวดอย่างสุดแสนสาหัสจากบาดแผลแห่งคมกระสุนปืน...สายตากวาดมอง จมุกฟุดฟิด....ดมหากลิ่นศัตรูผู้รุกราน ผู้ที่ทำให้มันเจ็บปวดทรมาน และหวังเพียงเพื่อการที่จะปกป้องลูกน้อยของมันให้รอดปลอดพ้นจากศัตรู




     เสียง..ปัง.....................................................
     กระสุนปืนนัดสุดท้าย ตรงเข้าตรงกลางทรวงอกของแม่หมี ด้วยความเจ็บปวดและความเหนื่อยล้าบวกกับแรงปืน ส่งผลให้แม่หมีเซถลาล้มกลิ้งร่างกระแทกกับพื้นดินดังสนั่น ลงไปฟุบตะแคงอยู่กับที่  "นิ่ง ...แน่นิ่ง ค่อยๆขยับกาย สี่เท้า...พยายามที่จะตะกรุยเข้ามาหาลูกน้อย ปาก...พยายามที่จะตะโกนร้องดังๆ เพื่อเรียกหาลูก แต่..ด้วยความเจ็บปวด แม่หมี...พร่ำร้องเรียกหาลูกน้อยด้วยแค่เสียงอันแผ่วเบา สองสายตา...เพ่งมอง จดจ้องลูกน้อยอย่างไม่กระพริบ น้ำตาที่ไหลพราก อาบสองแก้ม หยดลง ไหลสู่ดินเบื้องล่าง.....อนิจจา" 
     จวบจนม่านตาทั้งสอง พร้อมเปลือกตาทั้งสองข้างค่อยๆปิดสนิทลง สี่เท้าหยุดตะกรุย แน่นิ่งอยู่กับที่ ละอองฝนโรยระริน ป่าเงียบไปทั้งป่า ไม่มีแม้กระทั่งเสียงฟ้าคำราม สายลมสงบนิ่ง "ประหนึ่งธรรมชาติราวกับรับรู้ว่า...ชีวิตที่สำคัญที่สุดชีวิตหนึ่งในวัฏจักรแห่งป่า ได้ถูกพรากไปจากอ้อมกอดของธรรมชาติเสียแล้ว"  โอ้อนิจจา...บัดนี้..แม่หมีหมดสิ้นหน้าที่ก่อนอายุขัยของมันแล้ว ด้วยความเจ็บปวดทรมานที่มนุษย์เป็นผู้หยิบยื่นให้ ทิ้งให้ลูกน้อยทั้งสองของมันต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิตในผืนป่าอันกว้างใหญ่ เต็มไปด้วยภยันตรายในการดำรงชีพ แล้วลูกน้อยทั้งสองของมัน....จะอยู่ได้อย่างไร

     มาบัดนี้ เจ้า "ธันวา" หมีผู้พี่เพียงตัวเดียวที่เหลือรอดชีวิต จากการเลี้ยงดูของเจ้าหน้าที่ ผู้พิทักษ์ป่า มันได้เติบใหญ่ขึ้นมาและอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ในบ้าน ที่เจ้าหน้าที่สร้างไว้ให้มัน  โดยที่มันยังไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่า "ป่า" คืออะไร
               
   "วันแล้ว วันเล่า เจ้าธันวา เฝ้าแต่แหงนมองไปบนฟ้า เพื่อค้นหาบางสิ่งบางอย่างซึ่งไม่มีใครบอกมันได้"

เจ้าธันวา..คงคิดว่า  "แม่ แม่คงเฝ้ามองมันอยู่บนฟ้า...." 

     ด้วยรูปร่างอันใหญ่โต กรงเล็บอันทรงพลัง บวกกับคมเขี้ยวอันแหลมใหญ่ ผสานด้วยเสียงคำรามที่สามารถสยบได้ทั้งแนวป่า มันคือนิยามของสัตว์นักล่า "หมี" 
     แต่มาวันนี้ เจ้า "ธันวา" ไม่ใช่หมีเจ้าป่า นักล่าที่คนเคยได้ยินได้ฟังอีกต่อไปแล้ว จะเหลืออยู่ก็เพียงรูปร่างอันใหญ่โต อุ้ยอ้ายของมัน ที่สี่เท้าแบกอุ้มเดินวนไปมา  เสียงคำรามที่มีอำนาจสยบป่า ผมยังไม่เคยได้ยินมันร้องคำรามเลย มันคำรามไม่เป็น จะเหลืออยู่ก็เพียงภาพของสัตว์ที่มีแววตาเศร้าสร้อย ไม่มีปฏิกิริยาคุกคาม ไร้ซึ่งสัญชาตญาณของสัตว์ผู้ล่า วิถีแห่งป่าที่ให้กำเนิดมันมา แต่อีกภาพหนึ่งบางครั้งมันก็แฝงไว้ด้วยความน่ารัก น่าเอ็นดูในแบบฉบับของตัวมันเอง


"ประวัติเจ้าธันวา"

คนละนิดคนละหน่อยช่วยค่าอาหารเจ้าธันวาครับ





       กรงเล็บหมีบวกกับอุ้งเท้าอันทรงพลังที่สุด มาบัดนี้มันแค่ได้ใช้ปีนป่ายเล่น จับอาหาร หรือใช้เกาหลังเวลามันรู้สึกคันเท่านั้นเอง




     ร่างของหมีผู้น้องร่วมท้องกับธันวา ถูกดองเก็บไว้ในขวดโหลขนาดใหญ่ เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจแก่ผู้ที่จะคิดพรากชีวิตสัตว์ป่า ปัจจุบันเก็บไว้ในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยาน



     ดูเจ้าธันวาอยู่นาน คงได้เวลาไปยังที่หมายอื่นต่อแล้ว ต้องปล่อยเจ้าธันวาอยู่โดดเดี่ยวตามเคย ที่หมายต่อไปห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 2.5 กิโเมตร นั่นคือ "ต้นกระบากใหญ่" หัวใจหลักของอุทยาน ตามอีกชื่อที่นิยมเรียกกันคือ "อุทยานกระบากใหญ่"



 ขาไปลอดซุ้มสะพานเหล็ก ขนาดรถพอดีเป๊ะเลย


แวะจุดดูนก ระหว่างทาง


       ข้างล่างเป็นหุบห้วย ต้นไม้สูง ควรมีกล้องส่องทางไกล และใช้ระยะเวลาในการรอคอยเพื่อส่องดูนก

เหลือระยะทางอีกประมาณ 500 เมตร จะถึงลานจอดรถเพื่อเดินลงไปชมต้นกระบากใหญ่



ลานจอดรถ

           ที่ลานจอดรถ สะดุดตาเข้ากับต้นไทรยักษ์ ตั้งสูงโดดเด่นโดยยึดเกาะอาศัยติดกับไม้อื่น


     ต้นไทร เพชฌฆาตแห่งพงไพร จะอาศัยยึดติดและดูดอาหารจากไม้ที่มันยึดเกาะอาศัย จนต้นไม้นั้นแห้งเฉาตาย แต่ต้นไทรก็ได้ชื่อว่าเป็นเสมือน 7 ELEVEN ในป่าใหญ่ เพราะลูกไทรเป็นอาหารโปรดของเหล่านก และร่วงหล่นลงพื้นเป็นอาหารของสัตว์อื่นอีก ผมเคยไปป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ในตอนเช้าตรู่ฝูงนกนานาชนิด จะบินมาเกาะกินลูกไทร โดยเฉพาะนกเงือก พากันส่งเสียงเจื้อยแจ้วจะว่าเหมือนตลาดสดตอนเช้าก็ไม่ปาน



     มุมภาพจับแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์ ดวงเล็กๆ ช่วยให้ภาพถ่ายจากกล้องคอมแพ็คธรมดา ดูมีสีสัน และมีจุดเด่นมากขึ้น


ทางลงหุบเขา ชมต้นกระบากใหญ่ ระยะทางลงประมาณ 400 เมตร

                        คำแนะนำ เนื่องจากเป็นทางสูงชันและมีระยะทางยาวพอสมควร

ทางลง มีราวเกาะตลอดทาง





                                                  เก้าอี้แวะพักเหนื่อยระหว่างทาง





ร่มไม้ใหญ่ ตามแนวป่าริมทางเดิน



มองเห็นยอดต้นกระบากใหญ่ จากข้างทางเดิน

ศึกษาธรรมชาติ ไลเคนส์ (Lichens)


                    ทางบางช่วงมีรากไม้ใหญ่ ผุดขึ้นมา เป็นทางแบบขั้นบันไดธรรมชาติ กันลื่น


                                                            ป้ายบอกระยะทางคงเหลือ

ต้นไม้ต้นนี้ ช่างแปลกตาดีแท้


       เป็นกิ่งไม้จากต้นเดียวกัน แตกออกแล้วกลับไปทาบติดเป็นอันเดียวกัน ทางล้านนาเรียกว่า เขอ หรือขื่อผี นิยมใช้ติดที่หน้าบ้านหรือเหนือซุ้มประตูบ้านเรือน ป้องกันผีไม่กล้าขึ้นบ้านเรือน หรือใช้ห้อยเป็นเครื่องรางกันผี


"กิ้งก่าป่า"

                                            พรางตัวกับสีของเปลือกไม้ ได้สนิทเนียนมากๆ
             
                        ตัวนี้มีขนาดเล็กมาก ประมาณเท่าปากกาลูกลื่น ก็ซูมถ่ายตามกำลังกล้องได้แค่นี้
   
     "กิ้งก่าป่า" จะส่งสายตาจ้องหาเหยื่อที่เป็นแมลง พอเห็นเหยื่อก็จะใช้เทคนิคหลอกแมลงโดยใช้การกระพือแผงคอสีเหลืองอมเขียว เพื่อหลอกแมลงว่าเป็นดอกไม้ เพื่อล่อให้แมลงบินมาตอม เมื่อเหยื่อบินเข้ามาใกล้ ก็จะใช้ลิ้นเกี่ยวฮุบเหยื่อทันที



   







ตัวนี้กิ้งก่าบ้าน จะใช้การผงกหัวเพื่อล่อแมลง ใช้แทคติคคนละอย่างกันครับ ฮ่าาา.. สีสันการพรางตัวผมว่าแพ้กิ้งก่าป่า



"ผี้งโพรง"  ทำรังอยู่ในโพรงโคนต้นไม้












     เพลิดเพลินกับการศึกษาธรรมชาติซะนาน ในที่สุดก็มาถึงที่หมาย "ต้นกระบากใหญ่" ไฮไลท์ของการเดินทางครั้งนี้

 "ต้นกระบากใหญ่" 

        ต้นกระบากใหญ่ต้นนี้ ถือว่าเป็นต้นกระบากที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยสำรวจพบในประเทศไทย

        ลองเดินวนรอบโคนต้น



      เป็นต้นไม้ที่มีลำต้นขนาดใหญ่มาก หากสังเกตไปที่ฐานราก จะพบรากไม้ที่แผ่ครีบเป็นวงกว้าง และฐานที่มีขนาดใหญ่และแผ่กว้างนี่เอง ช่วยพยุงให้ลำต้นยืนหยัด เสียดตรง ไม่เอนเอียงไปตามลักษณะของภูมิประเทศ หรือตามน้ำหนักตัวของลำต้น เปรียบเสมือนเท้าของช้าง ที่ธรรมชาติออกแบบให้สามารถรับน้ำหนักตัวได้ดีและสมดุล






ขอนั่งมองให้ซึ้งถึงความใหญ่โตซะหน่อย

         เอนกายพักนอนเอาแรง พร้อมขอแบ่งอ๊อกซิเจนบริสุทธิ์ จากต้นกระบากใหญ่หน่อย


ด้วยข้อจำกัดในพื้นที่และขนาด จึงทำให้ผมหามุมถ่ายภาพต้นกระบากทั้งต้นค่อนข้างยากซักหน่อย






 ฐานรากใหญ่จริงๆ






จากจุดนี้สามารถเดินป่าไปชมน้ำตกปางอ้าน้อย ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร




            ป่าใหญ่ในหุบเขา เล่าเรื่องเจ้าธันวา กิ้งก่านั้นเก่งเรื่องพรางตา ธรรมชาติล้ำค่า "ต้นกระบากใหญ่"


   "ป่า...ไม่ใช่แค่แหล่งอาศัยของสัตว์ป่า แต่ ป่า คือบ้านของเรา บ้านของคนที่แท้จริง เราได้อาศัยใต้ชายคาแห่งผืนป่า ผลิตผลแห่งป่า แหล่งน้ำ..แหล่งอาหาร จากต้นกำเนิดแห่งผืนป่า สัตว์ป่าช่วยให้ระบบป่ายังคงอยู่ จึงล้วนมีบุญคุณแก่เรา สัตว์ป่าอยู่ ป่าก็อยู่ คนก็อยู่ หยุดกิน หยุดล่า หยุดฆ่าและหยุดซื้อ"


                                             โดย...คนเล่าเรื่องผ่านกองไฟ